การถามราคาและต่อรอง ถือเป็นกลยุทธ์ง่ายๆ ที่คนขายและลูกค้าต้องพบเจออยู่บ่อยๆ แต่กับโลกออนไลน์ การที่จะมัดใจลูกค้าที่ยอมจ่ายเงินซื้อของโดยไม่ได้เห็นหน้าค่าตาเจ้าของ ไม่ได้หยิบจับสินค้า มันก็ถือเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้นเราจึงรวบรวมเทคนิคเล็กๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของเว็บอี-คอมเมิร์ซทุกท่านมาฝากกัน!
1. ไม่ต้องเกรงใจ…เอาไปลองฟรี
การทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจและเกรงใจในเวลาเดียวกัน ทำได้ง่ายๆ เพียงแต่เมื่อใดที่ลูกค้าออเดอร์สินค้าชิ้นไหน เราก็เพียงใส่สินค้าตัวอย่างอีกชิ้นที่คิดว่าลูกค้าจะชอบลงไปในกล่อง อาจจะเป็นของที่เข้ากับสินค้าที่ลูกค้าซื้อไปก่อนหน้านี้ เช่น แถมตุ้มหูไปกับเสื้อผ้า เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้โดยไม่ต้องเอ่ยปากขอ วิธีนี้เป็นใครก็ต้องเซอร์ไพรส์เมื่อจ่าย 1 ได้ถึง 2
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ควรใช้วิธีนี้กับลูกค้าเก่า เพราะอย่างน้อยคุณได้รู้จักไลฟ์สไตล์ของสินค้าที่เขาเคยใช้ก่อนหน้า ฉะนั้นของที่ให้ไปก็มีโอกาสถูกใจและได้ทดลองใช้อย่างที่เราคาดหวังจริงๆ
2. เล่นเกมตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้า
ชวนลูกค้าเล่นเกมที่ไม่ใช่แค่เกมบนเฟซบุ๊ก แต่ครั้งนี้ใช้เพียงกระดาษหนึ่งแผ่นที่ระบุคำถามง่ายๆ พร้อมวิธีการร่วมสนุก ทำให้คุณได้ข้อมูลมากมายจากลูกค้า เช่น ลูกค้าใส่ใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าใดๆ มากน้อยแค่ไหน รวมถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นอย่างไร?
คำถามที่สามารถร่วมสนุกได้ก็เช่น ทายสรรพคุณพิเศษของสินค้า ถามถึงความเห็นต่อเทรนด์ของแฟชั่น และระดับราคาของสินค้าใหม่ที่ลูกค้าพอรับได้ เป็นต้น
ซึ่งเมื่อใดที่เขาส่งคำตอบมาหาคุณ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าเราสามารถพูดคุยและติดต่อกับลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
3. ให้ความมั่นใจ ไม่พอใจเปลี่ยน-คืนได้
ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซดังที่ประสบความสำเร็จเพราะมีสายป่านยาวในการยอมแบกรับต้นทุนของการส่งสินค้าและตีคืนกลับ รวมถึงการเปลี่ยนสินค้าเมื่อลูกค้าไม่พึงพอใจ วิธีนี้เจ้าของร้านค้าออนไลน์อาจจะรู้สึกว่าเสี่ยง แต่หากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่คุณผลิตเอง (มิได้รับเขามา) มั่นใจในคุณภาพ และควบคุมต้นทุนได้ การประกาศว่ายินดีคืนเงินเมื่อไม่พึงพอใจนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ ซึ่งก็เท่ากับว่า ประเด็นสุดท้ายที่เขาซื้อสินค้าจากคุณมิใช่เพราะตัวสินค้า แต่เป็นความมั่นใจนั่นเอง
4. เพิ่มความชื่นชอบในแบรนด์
ถึงแม้ร้านค้าเสื้อผ้าของเราจะเล็ก มีแต่สาขาออนไลน์ แต่การทำให้คนผูกพัน และรักแบรนด์เรานั้นก็สามารถเริ่มต้นทำได้ ด้วยการเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านหน้า About us หรือ บล็อก หรือเคยให้สัมภาษณ์ที่ไหนก็เอามาลงเว็บ ลูกค้าคนไหนรีวิวในทางที่ดี ก็หยิบมาเล่าให้ลูกค้าคนอื่นฟังต่อ และที่ดีที่สุดคนที่จะมาแนะนำสินค้าหากเป็นดาราก็จะสร้างความจดจำในแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการสร้างตำนานให้กับร้านของเรานั่นเอง
5. โปรโมชั่นก็ต้องช่วงเวลาจำกัด
ไม่ว่าจะทำการโปรโมทสินค้าใหม่ให้จองก่อนใคร หรือสินค้าที่ผลิตมาจำนวนจำกัด หรือการจัดช่วงลดราคาเลหลัง โปรโมชั่นทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีช่วงเวลาจำกัด ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจซื้อ หรือหมดแล้วหมดเลย ซึ่งวิธีนี้ก็อาจจะต้องใจแข็งสำหรับลูกค้าที่มาขอโปรโมชั่นเจ๋งๆ หลังไมค์เอาไว้ด้วย!
ดูเทคนิคการค้าขายออนไลน์อื่นๆ ได้ที่นี่
- 5 ข้อคิดก่อนตั้งชื่อร้านค้าออนไลน์
- 3 เว็บดีๆ ช่วยคิด+จดทะเบียนชื่อร้านค้าออนไลน์
- 3 เทคนิคพิชิตโจทย์ยากๆ อย่าง “ค่าส่งของ”
- การเขียนรายละเอียดภายในร้านค้าออนไลน์ จุดใหญ่ที่ไม่ควรละเลย
- หลากเทคนิคการเขียน “รายละเอียดสินค้า” เพื่อนำมาซึ่งการคลิกซื้อ!
- เคล็ดลับขายดีบนโลกออนไลน์
- คุณจริงจังกับการขายของออนไลน์มากแค่ไหน ???
- การเขียนรายละเอียดภายในร้านค้าออนไลน์ จุดใหญ่ที่ไม่ควรละเลย