บริเวณหน้าแรกของ Google นั้นเป็นพื้นที่ฟรีที่รอทุกท่านเข้าไปจับจอง บางพื้นที่ก็มีคนแวะเวียนมามาก บางพื้นที่ก็ไม่มีใครเข้ามาเลย ซึ่งแน่นอน การที่เราจะขายของได้นั้น จำเป็นจะต้องเอาร้านค้าของเราเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนเดินผ่านมาก ๆ ซึ่งบนหน้า Google มันคือ Keywords ที่มีคนค้นหาเยอะ ๆ

Keywords จึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ของคนที่ต้องการจะไปอยู่บนหน้าแรกของ Google ต้องคำนึงถึง เพราะถ้าเราติดหน้าแรกในคำที่ไม่มีคนค้นหา มันก็เปล่าประโยชน์ที่จะไปอยู่ตรงนั้น เหมือนกับเราวางขายของในบ้านที่ไม่มีคนเดินผ่าน แทนที่จะไปตั้งขายในตลาดที่มีคนมากมาย

จุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมพบว่าเครื่องมือหา Keywords ของ Google ที่เรียกว่า Google Keywords Planner ที่ตัวฟรีนั้นแสดงจำนวนคนค้นหาไม่เหมือนกับ Account ที่จ่ายเงิน โดยที่ผมรู้มาจากเพื่อนที่จะเริ่มทำ Google Adwords อีกทีตอนที่เขามาถามและผมก็เห็นว่าหน้าที่ผมดูกับที่เขาดูนั้นไม่เหมือนกัน ผมจึงจำเป็นต้องหาเว็บไซต์ในการทำส่วนนี้แทน เพื่อใช้แนะนำให้คนใหม่ ๆ สำหรับเรื่องนี้ไปลองศึกษา

kwfinder

KW Finder

เว็บไซต์แรก ตัวนี้แสดงผลเหมือนกับ Google Keywords Planner มากที่สุด เพราะพอใส่คำที่เราต้องการไปแล้ว มันจะแสดงผลออกมาเป็น Keywords แนะนำอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับคำที่เราใส่ไป จำนวนคนค้นหาโดยประมาณที่ค่อนข้างตรงกับ Google Keywords Planner อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

แต่ก็มีข้อจำกับอยู่เหมือนกัน ตอนที่ผมใช้ครั้งแรก จำกัดการค้นหาอยู่ที่ 5 ครั้งต่อวัน ผ่านมาหลายเดือนเหลือ 3 ครั้งต่อวัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าตอนที่ทุกท่านอ่านบทความนี้อยู่นั้น เขาจะปรับลดไปเหลือเท่าไหร่แล้ว

ถ้าให้คะแนน สำหรับเครื่องมือฟรีแล้ว ตัวนี้ผมแนะนำเป็นอย่างมาก เจอใครผมก็บอกต่อให้เขาเข้าไปใช้ เพราะการแสดงผลที่ละเอียดมาก แถมมีช่องประเมินคู่แข่งมาให้อีก เป็นส่วนที่ Google Keywords Planner ไม่มี

seochat

SEO Chat

เว็บไซต์นี้ดีตรงที่ จะทำให้คุณหาไอเดีย Keywords มากมาย เท่าที่ผมลองเล่นแล้วยังไม่พบข้อจำกัดอะไร แต่ไม่รู้ว่าขณะที่ท่านอ่านบทความอยู่เขาได้เปลี่ยนกฎอะไรบางอย่างไปหรือยัง

เครื่องมือนี้มันดีตรงที่ เขาได้มีการแยก Keywords ไว้เป็น 3 ระดับด้วยกัน ตั้งแต่ระดับสั้นที่สุด ไปจนถึง Longtail Keywords ซึ่งแต่ละระดับนั้น คือ

Keywords Level 1 เป็นคำพื้นฐานทั่วไป เช่น รองเท้า, ตู้เย็น, คอมพิวเตอร์, เก้าอี้, โรงแรม ซึ่งเป็นคำเรียกทั่วไป ปกติคำพวกนี้ถ้าติดหน้าแรก มักจะส่งให้คนเข้าเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก แต่อัตราการซื้อขายจากการค้นหาผ่านคำพวกนี้จะไม่มากเท่าที่ควร เพราะมันเป็นคำทั่วไป ที่ไม่ได้มีแต่คนที่ต้องการจะซื้อของเท่านั้นที่ค้นหา

Keywords Level 2 เป็น Keywords ที่มีคำขยายมาจาก Level 1 อีกทีหนึ่ง จะมีรายละเอียดลงลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง อาจจะเป็นยี่ห้อสินค้า หรือรายละเอียดย่อยของสินค้า เช่น รองเท้า nike, รองเท้าตัดพิเศษ, ตู้เย็น Sharp, ตู้เย็น 9 คิว เป็นต้น จะเห็นว่ามันจะเป็นคำที่ลึกลงมาเริ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

Keywords Level 3 เป็น Keywords ที่ลงรายละเอียดมากขึ้นจาก Level 2 ปกติคำที่มาถึงระดับนี้ มักจะเป็นคำที่มีมูลค่าสูงมาก หมายความว่า ถ้ามีคนค้นหาคำที่ลึกถึงระดับนี้แล้ว แสดงว่ามีความต้องการในตัวสินค้าสูงมากทีเดียว ตัวอย่างเช่น รองเท้า Nike Airmax, ตู้เย็น Sharp 9 คิว, เก้าอี้ ไม้สัก ทรงโบราณ, โรงแรม โซฟิเทล หัวหิน

จะเห็นว่าแต่ละคำจะเป็นคำที่ลงลึก และเฉพาะเจาะจงมาก ซึ่งปกติถ้ามีคนค้นหาถึง Keywords ระดับนี้ มักจะมีการปิดการขายที่ง่าย เพราะจะเป็นคนที่ต้องการเต็มที่ในการที่จะซื้อสินค้าและบริการเหล่านั้นอยู่แล้ว

ซึ่งเว็บไซต์นี้ได้ให้ Keywords ที่เกี่ยวข้องกับที่เราต้องการถึง 3 ระดับด้วยกัน ซึ่งเหมาะมากกับการเอา Keywords เหล่านี้ไปใช้ที่หน้าเว็บไซต์ และใช้ในการทำ SEO หรือการทำให้ติดหน้าแรกของ Google ต่อไป ซึ่งต้องบอกว่า Keywords Level 3 มักจะเป็น Keywords ที่ติดหน้าแรกค่อนข้างง่ายเสียด้วย

Google Trend

Google Trends

ตัวนี้เป็นเครื่องมือฟรีของ Google ที่ฟรีจริง ๆ และยังคงใช้ฟรีอยู่จวบจนปัจจุบัน เหมาะสำหรับการเปรียบเทียบ Keywords แบบละเอียด หลังจากที่ได้ลองหา Keywords มาอย่างละเอียดแล้วจากเว็บไซต์สองตัวด้านบน เพราะเว็บไซต์นี้จะแสดงผลเป็นรายสัปดาห์ ย้อนหลังได้ไปเป็น 10 ปีเลยทีเดียว ถือว่าเป็นเครื่องมือฟรีที่ดีมาก ๆ

แต่ข้อเสียของมันอยู่ที่ ไม่ได้แสดงจำนวนคนค้นหาจริง ๆ เว็บไซต์นี้เหมาะกับการเปรียบเทียบ Keywords มากกว่า ดังนั้นผมมักจะใช้ในการเปรียบเทียบ Keywords อย่างเดียว เพราะมันจะให้ค่าเต็ม 100 ไม่ว่า Keywords นั้นจะมีปริมาณการค้นหาอยู่เท่าไหร่ มันก็จะสูงสุดที่ 100 ดังนั้น มันจึงเหมาะกับการเอาไว้เปรียบเทียบ Keywords อย่างมาก

ปกติผมมักจะใช้ตอนที่สงสัยว่า คนไทยค้นหาคำลักษณะไหนมากกว่ากัน ในคำที่ความหมายคล้ายกัน เช่น

Google Trend

จากภาพ จะเห็นว่าสเกลจะมีแค่ 100 เท่านั้น โดยผมเปรียบเทียบคำว่า Lnwshop กับ inwshop ให้ดูเล่น ๆ

ส่วนเว็บอื่น ๆ เท่าที่ผมดูจะให้ข้อมูลที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เช่น

  • จำนวน Keywords มากมาย แต่ไม่มีจำนวนคนค้นหา (เว็บแรกเปิดเผยหมด ส่วนเว็บที่สองไม่มี แต่มีส่วนอื่นมาทดแทน)
  • จำกัดการแสดง Keywords ซ่อนการแสดงผลไว้ ทำให้แสดงผลได้ไม่หมดที่มี (เว็บที่สองเท่าที่รู้ไม่มีจำกัด)
  • คำข้างเคียงที่ตรงกับคำข้างต้นที่เราใส่ไป บางเว็บไม่มีคำข้างเคียงแบบข้างเคียงจริง ๆ เช่น เราใส่คำว่า “สอน” ก็จะไม่โผล่คำว่า “เรียน” มาให้ดู (แต่เว็บแรกมี)
  • ส่วนใหญ่ไม่รองรับประเทศไทย (แต่ทั้งสามเว็บที่ให้มา รองรับทั้งหมด)

ขั้นตอนการใช้งานเว็บไซต์ทั้ง 3 นั้น ปกติผมจะทำตามขั้นตอนแบบนี้

  1. ใช้เว็บ KW Finder เพื่อหาไอเดียในการหา Keywords กว้าง ๆ เพราะเราจะเห็นข้อมูลในแง่ของปริมาณการค้นหาครบถ้วน เลือกและจดออกมา
  2. ใช้เว็บ SEO Chat เพื่อหา Keywords ที่เชื่อมโยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Keywords ที่ผมหามาในข้อแรก
  3. ใช้ Google Trend เพื่อเปรียบเทียบขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง กรณีที่เรามีคำที่คล้ายกัน ก่อนนำไปใช้

เว็บไซต์ทั้งหมดที่ผมเอามาให้ลองเล่นดูนั้น ผ่านการกรองเหล่านี้มาหมดแล้ว ดังนั้น สามารถใช้ได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน ลองไปใช้ดูครับ ส่วนหลังจากที่ได้ Keywords มาแล้วเอาไปทำอะไรที่หน้าเว็บได้บ้าง เอาไว้บทความอื่น ๆ แล้วกันนะครับ สำหรับบทความนี้เอาเฉพาะเรื่องเครื่องมือการหา Keywords ไปก่อนครับ