หากคุณเป็นคนในวงการอี-คอมเมิร์ซตัวจริง เชื่อว่าชื่อ “แจ็ค หม่า” ได้เข้าไปอยู่ในลิสต์ลายชื่อ “ฮีโร่” ของคุณอย่างแน่นอน เพราะเขาคือผู้ก่อตั้ง อลีบาบา กรุ๊ป (alibaba group) บริษัทอีคอมเมิร์ซรายแรกๆ ที่กลายเป็นรายใหญ่ที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ในเวลานี้ ซึ่งปัจจุบันเฉพาะเว็บอีคอมเมิร์ซแบ่งออกเป็น 3 เว็บใหญ่ๆ ได้แก่
alibaba.com เว็บสำหรับบริาัทต่างชาติการดีลซื้อสินค้าตรงจากโรงงานในจีน (ตัวเว็บเป็นภาษาอังกฤษ)
taobao.com (อ่านว่า เถาเป่า) เว็บสำหรับใครก็สามารถลงขายสินค้าได้ที่นี่ (ตัวเว็บเป็นภาษาจีน)
tmall.com (ชื่อเว็บภาษาจีนเรียกว่า เทียนเมา) เว็บสำหรับภาคธุรกิจหรือแบรนด์ดังสามารถเปิดร้านขายของได้ที่นี่ มีการเก็บค่าบริการรายปี และค่าเปอร์เซ็นต์สินค้าที่ขายได้
เฉพาะ 2 เว็บหลัง ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าสร้างรายได้ถึง 5 หมื่นล้านล้านบาท มากกว่า amazon และ ebay ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของอเมริการรวมกัน
ด้วยเหตุนี้อาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้แล้วว่า “แจ็ค หม่า” เห็นอะไรในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ไม่เหมือนกับ Jeff และ John ซีอีโอของ 2 เว็บอี-คอมเมิร์ซจากแดนมะกันมองเห็น
และนี่คือ วิสัยทัศน์ ของ “แจ็ค หม่า” กับการเปลี่ยนโลกอี-คอมเมิร์ซของจีนได้ถาวร
เว็บอี-คอมเมิร์ซที่จริงแล้ว คือ การทำแพล็ตฟอร์ม ไม่ขายของเอง
“แจ็ค หม่า” พูดเสมอว่า เป้าหมายการทำเว็บอี-คอมเมิร์ซไม่ว่าจะเว็บไหนๆ ในเครือเถาเป่าคือ การสร้างแพล็ตฟอร์ม หรือพื้นที่ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบกิจการค้าขาย สามารถใช้เป็นตลาดกลางขายสินค้าและได้รับเงินจริงๆ
โดยเขาจะไม่เสียเวลาทำสินค้าใดๆ มาขายแข่งกับลูกค้า ซึ่งก็คือ พ่อค้าที่มาเปิดหน้าร้านออนไลน์กับเขานั่นเอง ซึ่งไอเดียนี้แตกต่างอย่างสุดขั้วกับ Amazon ที่วันนี้ โกดังสินค้ามหาศาล ยิ่งต้องอาศัยการจ้างพนักงงานเป็นหมื่นๆ แสนๆ คน ทำให้ควบคุมลำบาก
ดูภาพโกดังสินค้าอันมหึมาของ Amazon ได้ที่นี่
ปรับตัวเข้าสู่ Mobile Era อย่างเต็มตัว
“แจ็ค หม่า” ย้ำกับพนักงานแผนกมือถือว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ยอดขายผ่านทางมือถือมากกว่าเว็บ หรือพูดตรงๆ ก็คือ ฆ่าเว็บไซต์ไปเลยถ้าทำได้ เพราะต้องการกดดันให้เกิดภาวะการแข่งกัน และเขาก็เชื่อมั่นเหมือนซีอีโอคนอื่นๆ ว่า “อุปกรณ์เคลื่อนที่” คือสิ่งที่จะมาแทนจอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ได้อย่างแน่นอน แต่การรุกคืบในวงการมือถือของเครืออลีบาบา ไม่ใช่ทำแค่แอปฯ เพื่อให้ช้อปปิ้งบนมือถือ แต่ “แจ็ค หม่า” ปรับทั้งระบบ ได้แก่ การสร้างเซิร์ฟเวอร์ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และระบบปฏิบัติการมือถือของตัวเองในชื่อ Aliyun, การร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตมือถือ สร้างมือถือ Aliyun ที่ฝังความสามารถของการช้อปปิ้งเอาไว้เต็มที่, รวมถึงออกแอปฯ ที่ช่วยให้การค้าขายเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
รู้จักเลือกลงทุน และหาพันธมิตร
“แจ็ค หม่า” ไม่ชอบที่จะทำงานหนักและรวยอยู่คนเดียว ดังที่กล่าวไปแล้วว่าธุรกิจในเครืออลีบาบาที่ดูเหมือนจะเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซ แต่แท้จริงแล้ว คือ บริษัทไอทีชั้นยอดที่สร้างแพล็ตฟอร์มทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายนั่นเอง แจ็ค บอกกับผู้ประกอบการหน้าใหม่เสมอว่าต้องรู้จักเลือกที่จะทำและไม่ทำอะไร
เขาเลือกที่จะ Alipay บริการจ่ายเงินออนไลน์ ที่วันนี้เกิดขึ้นได้กับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น พีซี มือถือ แท็ปเบล็ต โดยรูปแบบการใช้งานไม่ต่างไปจาก Paypal แต่ที่พิเศษกว่าและถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ทำให้ทุกการค้าในเครือ Alibaba ใหญ่โตก็คือ การนำกระแสเงินสดมาเป็นกองกลาง กล่าวคือ ทุกสินค้าที่ซื้อขายผ่านเถาเป่า และเทียนเมานั้น ไม่ได้เป็นการโอนเงินจากลูกค้าไปยังคนขาย แต่เป็นการโอนเงินจากเถาเป่าให้ผู้ขาย โดยหากผู้ซื้อพอใจในสินค้า เงินที่ขายได้ก็จะถูกโอนให้พ่อค้า เมื่อลูกค้าได้รับสินค้า ทางเถาเป่าจึงหักเงินจากลูกค้า วิธีที่ใจป้ำแบบนี้แหละที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนเกิดและขยายตัวเร็วอย่างเกินความคาดหมาย
และสิ่งที่ Alibaba จะไม่ทำก็คือ สิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด เช่น การทำระบบขนส่ง แต่จะใช้การหาพันธมิตรที่ไว้ใจได้ มารับช่วงต่อแทน เพราะแจ็คเชื่อว่า การทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองถนัด เลือกแบ่งส่วนแบ่งให้พันธมิตร เพื่อทุกคนจะได้โตและรวยไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ปัจจุบัน แจ็ค หม่า (ชื่อจีนคือ หม่า หยุน) บุคคลที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงคุณครูภาษาอังกฤษ แต่กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ที่ยังไม่เคยมีในดิกชันนารีอย่างการสร้างเว็บอีคอมเมิร์ซ ล่าสุดในวัยไม่ถึง 50 ปี เขาลาออกจากการเป็นซีอีโอของเครือ Alibaba แล้ว เพื่อหวังว่าการมีซีอีโอเลือดใหม่ จะช่วยผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างสวยงาม โดยภายใน 2 ปี เขาวางแผนเปิดมหาวิทยาลัยสำหรับผู้ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการได้ลงเรียน
ดูคลิปวิดีโอการขึ้นเวทีพูดของแจ็คใหม่ ในงาน Asian Investment Conference 2013 ที่ฮ่องกงได้ที่นี่
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซจีนได้ที่นี่
Alipay ไฮเทคทำระบบจ่ายเงินด้วยเสียงผ่านมือถือ