เมื่อมีคนพูด ก็ต้องมีคนที่จะฟังคำพูดเหล่านั้น แต่การฟังของคนเรานั้นก็มีด้วยกันหลายระดับ บ้างก็ฟัง บ้างก็ไม่สนใจ หากคุณต้องการที่จะเป็นนักพูดที่ดี (หรือคนชอบพูด) แล้วหล่ะก็ สิ่งสำคัญอย่างแรกที่คุณต้องเรียนรู้และต้องเป็นให้ได้ก่อนสิ่งอื่น นั่นก็คือการเป็นนักฟังที่ดีนั่นเอง

วันนี้เราจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับการฟังทั้ง 5 ระดับกันครับ

  1. ฟังแบบไม่สนใจ (-) การฟังแบบนี้ถือว่าเป็นการฟังที่ระดับต่ำสุด คือ คนพูดจะพูดอะไรก็แล้วแต่ คนฟังก็ไม่สนใจที่ฟัง หาสิ่งอื่นมาทำทดแทนช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งการฟังแบบนี้ส่วนใหญ่จะเห็นได้จากการเข้าชั้นเรียน เข้าอบรม หรือสถานที่ที่มีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก หากเป็นการพูดเป็นสนทนากันแล้วผู้ฟังไม่สนใจ การสนทนาครั้งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น เหมือนพูดอยู่คนเดียวหน้ากระจกนั่นเอง – -‘
    คำพูดที่มักจะได้ยินจากผู้ฟัง เช่น …. (ไม่ได้ยินอะไรเลย)
     
  2. ฟังแบบแกล้งฟัง (-) การฟังแบบแกล้งฟังจริงๆ แล้วยิ่งกว่าการฟังแบบไม่สนใจอีกต่างหาก >.< เพราะทั้งที่ไม่สนใจที่จะฟังแล้วแต่กลับหลอกผู้พูดให้พูดต่อไปด้วยการแกล้งทำเป็นฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างเต็มใจ ใครที่เป็นแบบนี้อยู่ตลอด ก็ต้องรีบปรับตัวแล้วนะคร้าบ
    คำพูดที่มักจะได้ยินจากผู้ฟัง เช่น “เหรอๆ”, “จริงอ่ะ”
     
  3. ฟังแบบเลือกฟัง (หู) การฟังแบบนี้เริ่มใช้หูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการฟังครั้งนั้นๆ แต่ก็เป็นเพียงฟังแบบที่จะเลือกฟังในสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น เรื่องใดที่ไม่สนใจก็จะฟังผ่านๆ ข้ามไป ไม่ได้ตั้งใจที่จะฟังจริงๆ
    คำพูดที่มักจะได้ยินจากผู้ฟัง เช่น “อืมๆ”, “ก็ดีนะ” , “ไม่จริงมั๊ง”
     
  4. ฟังแบบตั้งใจฟัง (หู ตา) การฟังแบบตั้งใจดูเหมือนจะเป็นการฟังที่ดีที่สุด ด้วยความที่ผู้ฟังมีความตั้งใจในเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้พูดต้องการกล่าวให้ฟัง โดยผู้ฟังใช้ทั้งหูในการฟัง และตาในการบอกความสนใจ ตั้งใจที่จะรับฟัง
    คำพูดที่มักจะได้ยินจากผู้ฟัง เช่น “โห เยี่ยมเลย”, “เราว่ามันไม่ดีนะ”
     
  5. ฟังแบบเข้าอกเข้าใจ (หู ตา และใจ) นี่คือการฟังของผู้ฟังที่เยี่ยมยอดที่สุด คือนอกจากที่ใช้หูและตาในการที่จะตั้งใจฟังแล้ว ยังใส่ใจเข้าไปในการรับฟังครั้งนั้นด้วย นั่นหมายถึงการที่ผู้ฟังฟังแบบเข้าอกเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขหรือเสนอแนะให้กับผู้พูดได้อีกด้วย
    คำพูดที่มักจะได้ยินจากผู้ฟัง เช่น “แล้วเป็นไงต่อ ?”, “ทำอย่างนู้นอย่างนั้นดีกว่าไม๊” , “เราจะช่วยไรได้บ้าง?”
     

ทั้ง 5 ระดับนั้น ผมคิดว่าหลายๆ คนน่าจะมองออกอยู่แล้วว่าผู้ฟังที่กำลังฟังตนเองอยู่นั้นอยู่ในระดับใด ซึ่งหากเราได้ศึกษาและเข้าใจถึงที่มา เหตุผลของการฟังทั้ง 5 ระดับเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะสามารถจัดการ แก้ไข หรือปรับปรุงการพูดของเราให้ ผู้ฟังเพิ่มระดับการฟังได้อย่างแน่นอน !! และหวังว่าบทความ lnw เรื่องนี้ก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าอกเข้าใจในตัวผู้เขียนด้วยนะครับ อิอิ ^_^

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก คุณมนตรี แสงอุไรพร