e-Tax Invoice & e-Receipt Banner

ชวนทุกคนมาทำความรู้จัก e-Tax Invoice & e-Receipt ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เอกสารสำคัญใช้ลดหย่อนซื้อสินค้าหรือบริการในโครงการ “Easy E-Receipt” ประจำปี 2567 e-Tax Invoice และ e-Receipt จะแตกต่างกับใบกำกับภาษีที่เราใช้อยู่ยังไง แล้วการนำส่งสรรพากรจะแตกต่างไปจากเดิมไหม วันนี้เรามีข้อมูลมาบอกต่อกันค่ะ

เนื้อหาในบทความ


E-Tax Invoice คืออะไร

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) คือ ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ ที่กรมสรรพากรมีการพัฒนาขึ้นมาใช้แทนเอกสารแบบกระดาษหรือ Tax Invoice ที่เราใช้งานกันอยู่ทั่วไป โดยปรับเปลี่ยนข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% และกำหนดให้ต้องลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือมีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email จึงจะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ถูกต้อง

ความแตกต่างจาก Tax Invoice : เป็นเอกสารที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเหมือนกัน ต่างกันที่รูปแบบของเอกสาร Tax Invoice ใช้งานในรูปแบบกระดาษ และ e-Tax Invoice ใช้งานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงต้องมีลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือมีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เพื่อยืนยันตัวตนและความถูกต้องของข้อมูลด้วย

E- Receipt คืออะไร

ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) คือ ใบรับหรือใบเสร็จรับเงิน ที่จัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด เช่นเดียวกันกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

วัตถุประสงค์การนำมาใช้

  1. รองรับการทำธุรกิจกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  2. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
  3. รองรับโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
  4. ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการภาครัฐและเอกชน
  5. กำหนดมาตรฐานในการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

หน้าที่ของผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์

  1. จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมสรรพากรกำหนด
  2. ส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ซื้อสินค้าและผู้รับบริการ
  3. นำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรตามระยะเวลาที่กำหนด
  4. เก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กฎหมายกำหนด

รูปแบบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับรูปแบบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ดังนี้

1. e-Tax Invoice & e-Receipt

ผู้ประกอบการ ร้านค้า ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับ (ไม่จำกัดรายได้) จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์  ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ และมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรผ่านช่องทางที่กำหนด ภายในวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดไป

ช่องทางนำส่งที่สรรพากรกำหนด*
  • Host to Host นำส่งข้อมูลผ่านระบบนำส่งที่ร้านค้าเชื่อมต่อกับกรมสรรพากรโดยตรง
  • Web Upload นำส่งข้อมูลด้วยวิธีการอัปโหลดผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
  • Service Provider นำส่งข้อมูลผ่านผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
เอกสารที่จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • ใบกำกับภาษี (เต็มรูป) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ใบกำกับภาษี (อย่างย่อ) ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ใบรับ (ใบเสร็จรับเงิน) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น PDF, PDF/A-3, XML หรืออื่น ๆ โดยต้องลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการหรือร้านค้า

ขั้นตอนการจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์
จัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax invoice & e-Receipt
[ภาพประกอบจาก กองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร]
  1. ร้านค้าต้องจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority: CA) ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันผู้ออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ มี 2 ราย ได้แก่
    • บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด (www.thaidigitalid.com)
    • บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (https://ca.inet.co.th)
  2. ร้านค้าลงทะเบียนผ่านโปรแกรมลงทะเบียนและตรวจสอบลายมือชื่อดิจิทล (Ultimate Sign & Viewer)
  3. จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงลายมือชื่อดิจิทัลแล้วให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  4. จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ / ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบ XML File และลงลายมือชื่อดิจิทัล นำส่งให้สรรพากรตามช่องทางที่กำหนด*
  5. ติดตามและตรวจสอบผลการนำส่งข้อมูล ที่ระบบ Tracking
  6. จัดเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด
การส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ

ร้านค้าสามารถส่งมอบได้ 2 วิธี คือ

  1. กรณีลูกค้าขอรับเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดส่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ได้พูดคุยตกลงไว้ เช่น ส่งผ่านทางอีเมลไปให้ลูกค้า
  2. กรณีลูกค้าขอรับเป็นกระดาษ สามารถจัดพิมพ์เอกสารออกมาเป็นกระดาษและจัดส่งถึงลูกค้าได้เช่นกัน โดยต้องแสดงข้อความบนเอกสารว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งลูกค้าจะต้องจัดเก็บเอกสารนี้ไว้ในรูปแบบกระดาษ

2. e-Tax Invoice by Email

ผู้ประกอบการ ร้านค้า จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และยังไม่พร้อมเข้าสู่ระบบการจัดทำในรูปแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt สามารถจัดทำเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบของ PDF/A-3 ส่ง Email ถึงผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ พร้อมสำเนา CC ไปยังระบบกลาง (csemail@etax.teda.th) เพื่อให้ระบบประทับตรารับรองเวลา (Time Stamp) ซึ่งระบบจะนำส่งข้อมูลที่ประทับตรารับรองเวลาแล้วให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรแบบอัตโนมัติ

ความแตกต่างระหว่าง e-Tax invoice & e-Receipt กับ e-Tax invoice by Email
[ภาพประกอบจาก กองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร]

สะดวกไปอีกขั้น! ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ง่ายผ่าน LnwShop

LnwShop อำนวยความสะดวกให้ร้านค้าเทพที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้บริการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ผ่าน LnwShop ได้ โดยสามารถติดต่อสอบถามขั้นตอนและรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่อีเมล support@LnwShop.com ได้เลยนะคะ

และสำหรับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ e-Tax Invoice by Email ด้วยตัวเอง ก็สามารถเปิดใช้งานตัวเลือกรับใบกำกับภาษีที่หน้าบิลออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยไปที่ระบบหลังร้าน > เมนู Tax Invoice > เปิดสวิตซ์ใช้งานที่หัวข้อ e-Tax Invoice

Easy E-Receipt - e-Tax Invoice System e-Tax Invoice & e-Receipt

“Easy E-Receipt” มาตรการลดหย่อนภาษีซื้อสินค้าและบริการ 2567

ทำความรู้จักกับ e-Tax Invoice และ e-Receipt กันไปแล้ว ก็ขอพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เราต้องเริ่มตื่นตัวกับการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์นี้กันบ้าง เนื่องจากในทุก ๆ ต้นปี รัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ ด้วยการออกโครงการต่าง ๆ มา ไม่ว่าจะเป็น ช้อปดีมีคืน หรือ e-Refund อย่างปี 2566

ซึ่งปี 2567 นี้ ทาง ครม. ก็ได้มีมติออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการ Easy E-Receipt มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้า-บริการสูงสุด 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ต่างไปจากปีอื่น ๆ คือ ต้องใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูป จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเริ่มเรียนรู้การใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์กันแล้วนั่นเอง

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการ Easy E-Receipt ดูข้อมูลเพิ่มเติม … Easy E-Receipt 2567 ใช้ยังไง? ลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง?


แหล่งข้อมูล