ขณะนี้เหลือเวลาเพียงแค่ 6-7 เดือนเท่านั้น ที่ประเทศไทยจะต้องเข้าไปใช้สิทธิในวงโคจรดาวเทียม 120 องศาตะวันออก ก่อนที่ประเทศอื่นจะสิทธิ์เข้ามาใช้งานบนวงโคจรนี้ได้ทันที ซึ่งหากจะยิงดาวเทียมที่สร้างใหม่ขึ้นไปก็คงไม่ทันเสียแล้ว เหลือแต่เพียงเช่าหรือซื้อดาวเทียมในวงโคจรอื่นๆ มาวางที่ตำแหน่งนี้แทน โดยขณะนี้ กสท. อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของดาวเทียมที่มีอยู่ เรื่องราวของดาวเทียมและวงโคจร 120 องศาตะวันออกนี้จะเป็นอย่างไร และประโยชน์ที่ได้จากวงโคจรนี้คืออะไรบ้าง ตามมาดูกันครับ

 

วงโคจรดาวเทียม 120 องศาตะวันออก ครอบคลุมหลายๆประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย  มหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ถือว่าสำคัญมาก ซึ่งทาง สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union-ITU) ได้ตรวจสอบกำหนดเวลา หลังจากได้ปลดระวางดาวเทียมไทยคม ณ ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไปเมื่อ 18 ม.ค. 2553 ซึ่งหากดูตามกฏข้อบังคับแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องนำดาวเทียมขึ้นไปวางภายใน 2 ปี ซึ่งนั่นคือ วันที่ 17 ม.ค. 2555 เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนเศษๆ เท่านั้น

 

จากท่าทีของประเทศไทยในตอนนี้ก็ต้องนับว่า ต้องรอไปจนถึงรัฐบาลชุดใหม่กันเลยทีเดียว เพราะ กสท. เองก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ถึงแม้ว่ากระทรวงไอซีทีจะมีนโยบายให้ กสท. เป็นจัดการปัญหานี้ทั้งหมดก็ตาม ทั้งนี้ กสท. ได้มีการดำเนินงานไปแล้วส่วนหนึ่ง นั่นคือ การเจรจากับเจ้าของดาวเทียมของวงโคจรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลักแซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และอิตาลี เพื่อนำมาใช้แทนตำแหน่งที่ 120 องศาตะวันออกนี้ โดยยังอยู่ในระหว่างการเจรจา

ดังนั้น รัฐบาลชุดหน้าที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ก็ควรที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญเร่งด่วน เพื่อรักษาสิทธิ์ในการใช้วงโคจรดาวเทียม 120 องศาตะวันออกนี้ให้เป็นของประเทศไทยต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ManagerOknation