คิดว่าหลายๆคนที่เข้ามาอ่านบทความในบล๊อกเทพน่าจะมีความรู้ความสามารถในการเขียนโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นภาษาซี(C), ภาษาเบสิค(Basic), ภาษาไพธอน(Python) และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ภาษาใดก็ภาษาหนึ่ง คงเคยประสบปัญหามากมายระหว่างการเขียนโปรแกรม อาจเป็นสิ่งเล็กๆอย่างพิมพ์ผิดพิมพ์ตก หรือแม้กระทั่งสิ่งใหญ่ๆที่เรียกว่า ‘บั๊ก’
คงไม่มีใครชอบแน่ใช่ใหม่ครับ กับความผิดพลาดที่เข้ามาหลอกหลอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันนี้ผมมีเทคนิคเล็กๆ น้อยในการเขียนโปรแกรมมาฝากกันครับ
- ศึกษาหาข้อมูลก่อนลงมือเขียนโปรแกรม
ดังภาษิตว่าไว้ ‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’ การศึกษาหาข้อมูลก่อนลงมือเขียนโปรแกรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะเขียนโปรแกรมอะไร เขียนด้วยภาษาอะไร เขียนอย่างไร มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ เฟรมเวิร์ก หรือโมดูลอะไรที่ต้องใช้บ้าง อุปกรณ์ช่วยเหลือเหล่านั้นใช้งานอย่างไร และสุดท้าย เราเขียนโปรแกรมนี้ขึ้นมาเพื่อนำไปให้ใครใช้งาน - เขียนโปรแกรมอย่างเรียบง่ายพอเพียง
เขียนโปรแกรมตามความต้องการของผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานอื่นๆที่ผู้ใช้ไม่ต้องการ เพราะนอกจากฟังก์ชั่นดังกล่าวทำให้โปรแกรมมีขนาดใหญ่โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้เราซึ่งเป็นผู้เขียนโปรแกรมทำการตรวจทานได้ยากด้วย เนื่องจากโปรแกรมมีความซับซ้อนเกินไป - Tools Independence ไม่ยึดติดกับอุปกรณ์ที่ใช้เขียน
สักวันหนึ่งเราอาจต้องทำการปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมที่เราเคยเขียนเอาไว้โดยไม่มีโปรแกรมที่เราเคยใช้เหมือนแต่ก่อน การที่เราสามารถใช้อุปกรณ์เขียนโปรแกรมได้หลากหลายทำให้เราสามารถเขียนโปรแกรมได้ในทุกสถานการณ์โดยไม่ติดขัด อย่าลืมว่าไม่ว่าเราจะใช้อุปกรณ์ใดเขียน โปรแกรม ‘Hello World’ ก็ยังคงเป็นโปรแกรม ‘Hello World’ - Tools Dependence ยึดติดกับอุปกรณ์ที่ใช้เขียน
ข้อที่แล้วบอกอย่ายึดติด ข้อนี้บอกให้ยึดติด!? อย่าพึ่งงงครับ ความหมายจริงๆของข้อนี้คือ เราควรมี และใช้อุปกรณ์หรือโปรแกรมที่เราถนัดที่สุด จึงจะสามารถเขียนโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งเราใช้อุปกรณ์ได้ดีเท่าใด ก็สามารถเขียนโปรแกรมได้ดีเท่านั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ใช้ท่าไม้ตายของเราเอง - บันทึกงานอย่างสม่ำเสมอ
อย่าให้ชีวิตคุณแขวนอยู่บนสายไฟฟ้า อย่าให้พริบตาเดียวงานที่คุณเขียนมานานแสนนานต้องหายวับไปกับตา เพียงเพราะไม่ได้เซฟงานเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนๆ ความปลอดภัยก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากยังไม่อยากน้ำตาตกกับเรื่องเหล่านี้ เราควรบันทึกผลงานที่เราสร้างเอาไว้เสมอๆ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้บันทึกมันอีก
เทคนิคทั้ง 5 ข้อนี้เป็นเพียงเทคนิคเล็กๆน้อยๆเพื่อการก้าวไปสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์เทพ คาดว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย สำหรับใครที่ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์อาจลองนำไปประยุกต์ใช้ในงานของท่านได้นะครับ ได้ผลอย่างไรก็แวะนำมาบอกกล่าวกันด้วย ส่วนผมขอไปฝึกตนเป็นโปรแกรมเมอร์เทพก่อนนะครับ ฟี้วๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.ninemee.com
รูปจาก bostinnovation.com