การเริ่มต้นขายของออนไลน์ จะว่าง่ายก็อาจจะง่าย แต่บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะขายให้ได้ดี … Sayreya เองก็มีโอกาสได้ไปฟังการแชร์ประสบการณ์ขายของออนไลน์ ของสองร้านค้าเทพในงาน e-Biz Expo 2015 มา แล้วก็ได้ค้นพบว่ามีหลาย ๆ ไอเดียที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจร้านค้าออนไลน์ ก็เลยขออนุญาตสัมภาษณ์ร้านทั้งสองแบบ Executive มาฝากเพื่อนชาวเทพกัน ว่าแต่จะน่าสนใจแค่ไหนตาม Sayreya มาเลย
รู้จักกับ ร้านแสงตะวันบุ๊คส์ และ ร้าน Paper Studio กันก่อน
แสงตะวันบุ๊คส์ ร้านขายหนังสือแปลมือสอง ที่เริ่มต้นจากความชอบ ในการอ่านหนังสือแปล ของคุณมุนา เจ้าของร้าน จนตอนนี้ขยับขยายธุรกิจจากโลกออนไลน์ กำลังจะมีหน้าร้านขายหนังสือมือสองบนโลกออฟไลน์ ที่จังหวัดขอนแก่น
เพราะมองเห็นโอกาสทางการตลาด คุณป๋อ หนุ่มหล่อเจ้าของร้าน Paper Studio เลยตัดสินใจฉีกแนวธุรกิจตรายาง ด้วยบริการออกแบบ และผลิตตราปั๊มใส เพื่อเอาใจ SME ขนาดเล็ก รวมถึงสาวกงานแฮนด์เมค
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ ร้านค้าออนไลน์
คุณมุนา เจ้าของร้านแสงตะวันบุ๊คส์ เล่าว่า : จุดเริ่มต้นคือการเป็นนักอ่าน มีหนังสือส่วนตัวหลายร้อยเล่ม สะสมมาหลายปี มันก็เริ่มเก่า ก็เลยหาที่จำหน่ายออก รวมทั้งกับเพื่อน คือจะย้ายบ้านไปอังกฤษ ก็เอาหนังสือ ของเล่นลูกมาเหมาขาย และเราชอบขายของอยู่แล้ว ก็เลยรับมา ก็เริ่มจากขายที่ตลาดนัดเปิดท้ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วก็ที่ ตลาดถนนคนเดินมะลิวัลย์ เริ่มจากขายราคาถูก แบบล้างสต็อก ลดแลกแจกแถมไปเยอะ แล้วก็ขายได้ดี เลยเกิดแนวคิดว่า ในเมื่อเราซื้ออ่านอยู่แล้ว ก็เอามาขายดีกว่า ได้ราคากว่าเอาไปชั่งกิโลขาย แล้วก็เริ่มมีลูกค้ากลุ่มเล็ก ๆ มาถามหาหนังสือกับเราเรื่อย ๆ ก็เลยลองเอาลง Facebook ดู แรก ๆ ก็เงียบ แต่พอเริ่มลงข้อมูลหนังสือเด็ก ก็ขายได้ดีขึ้น เพราะในขณะนั้นยังไม่มีใครขาย ก็เลยทำธุรกิจนี้เรื่อยมา
คุณป๋อ เจ้าของร้าน Paper Studio เล่าว่า : เริ่มต้นเลยคือ ผมเป็นวิศวกร ส่วนแฟนทำด้านงานพิมพ์ แล้วเราสองคนอยากมีธุรกิจส่วนตัว ก็เลยมองจากความใกล้ตัว คือ งานพิมพ์ที่แฟนทำ แล้วอาเจ็กมีเครื่องจักรเริ่มต้นให้ ก็เลยลองเริ่มต้นในธุรกิจนี้ แต่เริ่มปุ้ป ก็เกิดปัญหาตามทันที เพราะงานพิมพ์ส่วนใหญ่ต้องรับทำในปริมาณมาก ๆ แต่บ้านเรา SMEs เยอะมาก ผู้ประกอบการ SMEs จะไม่สั่งครั้งละเยอะ ๆ จะสั่งแต่ 100 ชิ้น บ้าง 50 ชิ้น บ้าง ซึ่งหากสั่งทำเยอะ เงินจะจม ดังนั้นธุรกิจของผมในตอนนั้นจึงไม่ตอบโจทย์เขา
เราก็เลยเริ่มมองว่า แล้วเราจะปรับยังไงดี ปกติเวลา SMEs ต้องการอะไร ก็เลยเกิดไอเดียว่าตรายางน่าจะตอบโจทย์เขา แต่บางครั้งตรายางอาจจะยังไม่คมชัด ความสวยงามอาจจะน้อยไป ก็เลยพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตราปั้ม ตรายาง และตราปั้มใสแบบปัจจุบัน
ทั้งสองร้านค้าอาจจะมองหาธุรกิจจากเรื่องใกล้ตัว หากร้านค้าทั่วไป ไม่ได้เริ่มธุรกิจจากสิ่งที่รักแบบคุณป๋อ และคุณมุนา ทั้งสองร้านมองว่าจะเกิดความต่างของการทำธุรกิจร้านค้าออนไลน์ไหม
Paper Studio : ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่เฉพาะร้านค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะออนไลน์ไหม สิ่งสำคัญที่สุดก็ยังเป็นเรื่องของความปรารถนาที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการ ความอยากที่จะเป็นเจ้าของให้มากพอ บางคนอยากมีร้าน บางคนอยากคิดโปรดักส์ มันก็ไม่เหมือนกัน ถ้ามีความอยากมากพอ เดี๋ยวมันก็เป็นเถ้าแก่ได้เอง
แสงตะวันบุ๊คส์ : คิดเหมือนกัน คือถ้าจะเริ่มต้นธุรกิจ ถ้าไม่เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่คุณรัก คุณก็ต้องมีความเป็นผู้ประกอบการจริงจัง ต้องมี Passion ถ้ามี Passion แล้วจะเกิดการขวนขวายหาข้อมูล เกิดการพัฒนาตัวเองไปเลย เกิดความทุ่มเทในตัว ผู้ประกอบการบางคนก็ไม่ได้มาจากสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่บังเอิญเราโชคดีที่รู้ว่าเราชอบอะไร แต่สำหรับบางคนสิ่งที่ชอบอยู่ใกล้ตัวแต่อาจจะมองไม่เห็น เหมือนเส้นผมบังภูเขา
Paper Studio : เจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คนจะชอบแชร์ว่า เนี่ยครูพักลักจำมา จริง ๆ แล้ว ผมติดว่ามันเกิดจากคุณมี Passion ก่อน พอคุณมี Passion คุณไปถามโน่นนิดนั่นหน่อย จนกระทั่งเหมือนว่าคุณไปลักจำคนอื่นมา แต่จริง ๆเลย มันมีที่มาคือ Passion ของคุณเองก่อน ซึ่งไม่เฉพาะการค้าขายนะ ธุรกิจทุกอย่างต้องอาศัย Passion ทั้งนั้น
ตอนเริ่มต้นธุรกิจ ลำบากไหม และผ่านมาได้อย่างไรบ้าง
ไม่ได้สนเลยว่าขายดีไหม ได้คุยเรื่องที่เราชอบก็โอเคแล้ว
– คุณมุนา ร้านแสงตะวันบุ๊คส์
แสงตะวันบุ๊คส์ : เราไม่ได้สนเลยว่าขายดีไหม ความรู้สึกเราตอนไปขายของ แค่มีคนบอกว่ามีเล่มนี้ด้วย ลูกค้าถามพี่มีเล่มนี้อีกไหม พี่อ่านแนวนี้ ได้คุยเรื่องที่เราชอบก็โอเคแล้ว ซึ่งของแสงตะวันบุ๊คส์พัฒนาจากจุดนี้ พอเราเริ่มทำ Facebook เราก็บอกกลุ่มคนของเรา ว่าเข้าไปคุยกันได้นะ ซึ่งพอเราเองเริ่มจะความสนใจ และ มี Passion ด้วย ก็สามารถเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจากกลุ่มเล็ก ๆ ให้ใหญ่ขึ้น ฐานลูกค้ามันก็เริ่มขยายขึ้นมาเอง แต่พอเราอยู่บนโลกโซเชียล มันก็แพร่หลายได้ไว ส่วนเว็บไซต์ก็มาเริ่มทีหลัง เคยอยากทำเว็บนานแล้ว จดชื่อไว้ ลองทำที่อื่นดูก็เงียบ ๆ จนได้ย้ายมาที่ LnwShop ก็ชอบรูปแบบระบบของที่นี่ ก็เลยลองทำใหม่ดูอีกครั้ง
ในเว็บก็ขายสบายกว่าขายผ่าน Facebook เพราะมีระบบสรุปยอดให้ ร้านเรามีปัญหาเรื่องสรุปยอดเยอะ จนแต่ก่อนต้องจ้างเด็กช่วยสรุปยอด เดี๋ยวนี้ใช้ระบบอัตโนมัติอ่ะ เรารอรับเงินอย่างเดียว และเว็บยังทำให้เราได้ลูกค้ามีคุณภาพขึ้น ได้ลูกค้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก แล้วได้กลุ่มแม่ค้าที่มารับหนังสือต่อมาจาก Google ก็เยอะ โฟกัสของร้านเราตอนนี้ก็จะกลายเป็นในเว็บไซต์ เพราะคิดว่าใน Facebook มันเป็นอะไร ชั่วครั้ง ชั่วคราว วูบวาบ แต่ไม่ยั่งยืน
สำหรับเว็บไซต์ เราเริ่มโปรโมทจากกลุ่มลูกค้าเฉพาะความสนใจ นี่คือกลุ่มตลาดแรก อันนี้เราก็ดูแลให้ดี พอดูแลดีเค้าจะบอกปากต่อปาก กับอีกอันหนึ่งพอติดอันดับ Google ก็จะเข้ามาเอง สิ่งหนึ่งที่ได้ก็คือได้เพื่อนมาด้วย นอกเหนือจากธุรกิจ แล้วเราเป็นแม่ค้าที่ไม่ได้มองแม่ค้าคนอื่นเป็นคู่แข่ง บางเจ้าเขาไม่บอก แต่ร้านเราแนะนำหมดเลย เริ่มจากตรงนี้ ๆ สิ ไปทำเว็บไว้ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนสนใจอยากจดทะเบียนพาณิชย์แล้วด้วย เพราะว่าเห็นเราจด เพราะเราทำเป็นอาชีพเลย เราก็ทุ่มเท เราคิดว่าถ้าเรามีเวลาให้แล้วทำให้เป็นธุรกิจไปเลย มันจะออกวงกว้าง ออกสื่อต่าง ๆ อย่างร้านของเราจะได้เปรียบตรงที่ว่า ร้านเราไปออกบูธด้วย คือทำทั้งออนไลน์ และออฟไลน์เลย ควบคู่กันไป
Paper Studio : ตอนแรกเนี่ย ผมเป็นคนที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์เลย ในทั้งชีวิต Facebook ก็เล่นน้อยมาก เพราะผมทำงาน การเข้าหาลูกค้าคือการ Approach ก็คือการไปนั่งคุยแบบนี้ เพื่อที่จะบอกว่าสินค้าเราดียังไง และเราก็เสนอราคาออกไป เรามีภาพที่ติดว่า คุณจะต้องขายของออฟไลน์เท่านั้น
ดังนั้นตอนแรกที่เราทำการตลาดก็คือ เราเลือก Pop-Up Store ก่อน ทำไปคู่กับทำเว็บไซต์ เพราะว่า Pop-Up Store มันง่าย เพราะคนที่เดินอยู่ข้างหน้า พอเขาเห็นอะไรแปลกใหม่ก็ถามหน่อย เราก็เข้าใจว่าตรงนี้น่าจะขายได้นะ แล้วก็ขายได้ แต่ไม่ได้มาก แล้วเราเหนื่อยตรงที่ว่าเราจะต้องหอบของ หอบตราปั๊ม หอบสมุด เพื่อให้สินค้าเรามีความน่าสนใจ อยากให้ลูกค้าเห็นของเยอะ ๆ แต่ลูกค้าไม่ได้เยอะด้วย จุดตัดสินใจของลูกค้า อยู่ตรงที่ปกติคนเดินผ่านหน้าบูธนี่ 3 วินาที กับการคิด กว่าจะคิด 3 นาทีเขาเดินผ่านไปแล้วครับ แล้วเขาก็เดินผ่านบูธเราไปเลย หรือบางทีเขาซื้อของจากบูธข้าง ๆ อยู่ ฉันยังเลือกอยู่เลย พอเดินผ่านบูธเธอไปละ ฉันไม่ทันได้ดูละ เสียโอกาสละ กลายเป็นว่างานออฟไลน์นี่มันเป็นงานที่กว่าจะได้ตามต้องการ มันยากนะ
สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มทำออนไลน์ ก็คือเราก็ต้องรู้ว่าเงื่อนไขของการมีเว็บไซต์ของเราเรามีเพื่ออะไร
– คุณป๋อ ร้าน Paper Studio
ซึ่งในส่วนของงานออฟไลน์ จะออกเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ช่วงจันทร์-ศุกร์ก็จะมีเวลา ที่จะลงของบ้าง ถ่ายรูปบ้าง ลงวิดิโอยูทูปบ้าง ตรงนี้เราก็ใช้เวลาในการเก็บรูป เก็บสะสมข้อมูลพวกนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราเอารูปขึ้นมาที่ออนไลน์ สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มทำออนไลน์ ก็คือเราก็ต้องรู้ว่าเงื่อนไขของการมีเว็บไซต์ของเรา เรามีเพื่ออะไร เพื่อคนที่จะคุยกันหรือเปล่า รู้แล้วเราก็ต้องไปหาข้อมูลอีกว่า คนที่เขาจะเข้ามาคุยกันมันอยู่ตรงไหน เขาคุยทางไหนกัน เขาทำอะไรกันบ้าง เราก็ต้องมาดูสถิติ Facebook เนี่ย คนเข้าเล่น Facebook 19 ล้านคน มันหมายความว่า มีคนเดินอยู่ตรงนั้น ใน Facebook เยอะมาก เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น Facebook ควรจะเป็นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างกัน เราก็เลยเซ็ตว่า Facebook เป็นแหล่งรวมผลงานที่เกิดจากตราปั๊ม และถ้าเกิดใครสงสัยอะไร เขาก็จะเข้ามาอะไรแบบนี้
มองการแข่งขันของร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทเดียวกับเราอย่างไรบ้าง
แสงตะวันบุ๊คส์ : ทุกวันนี้แม่ค้าใหม่จะบอกว่าแม่ค้าขายหนังสือเด็กใน Facebook จะเกิดขึ้นเยอะมาก ต้องบอกเขาว่า คุณอย่ามองแค่ใน Facebook สิ ในเว็บไซต์ก็มีไม่เยอะ แล้วก็ในชีวิตจริงไปขายตลาดนัดวางกับดิน เหมือนขายอย่างอื่นก็ได้ แต่ใน Facebook คุณคิดแค่ว่า ใคร ๆ ก็ใน Facebook เพื่อนของเพื่อนของเพื่อนมันไม่เยอะ แต่คนที่เราไม่รู้จักอีกก็เยอะ แล้วสังเกตดู ไปตามดูตามเพจ ดูเว็บที่แม่ค้าลงของ แม่ค้าแต่ละคนเขาจะมีกลุ่มตลาดของเขา
Paper Studio : สมมติมีคนอยากทำหนังสือแบบพี่มุนา อย่างน้อยก็ต้องเป็นขาหนึ่งของพี่มุนาก่อน พอขายสักพักมันจะมีกลุ่มลูกค้าของตัวเอง บางทีร้านพี่มุนาอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง บางทีเขาอยากจะได้ภาษาอียิปส์ อิหร่าน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของร้านนี้ เขาก็อาจจะเป็นผู้จัดส่งอีกรายหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นคนละกลุ่ม อยู่ในไลน์หนังสือเดียวกัน แต่ไม่ใช่คู่แข่งกัน เป็นพาร์ทเนอร์กัน พี่มุนาอาจจะอยากได้หนังสือแนวอื่นอีก ก็เคยติดต่อกันแล้ว ก็กลายเป็นว่าช่วยกัน
จะบอกว่ากลุ่มตลาดเนี่ย ไม่ได้เกิดมาก่อน คือพอคุณขายสักพักคุณจะมีกลุ่มตลาดของคุณเอง จะมีตามมาหลังจากที่คุณขายแล้ว อย่างกลุ่มตลาดของผมเป็นศูนย์ เข้ามาปุ้บต้องมานั่งหากลุ่มตลาดใหม่ พอเราทำสักระยะ มันจะมีกลุ่มตลาดของเราเอง กลุ่มตลาดที่เกิดตามมาหลังจากที่คุณลงสินค้า แต่ว่าต้องใช้เวลา
จริง ๆ มันไม่จำเป็นจะต้องมาทำสินค้าแข่งกันหรอก มันมี Channel ของมัน แต่เขาไม่รู้ว่าแบบจะทำยังไง เขาจะดูแต่คนนี้ทำอะไร แล้วก็คิดแต่ว่าฉันทำตามแก พอมันทำตามมาก ๆ เข้า ลูกค้ามันไม่เข้า แล้วเค้าก็ตัดราคากัน นี่หละวงจรของธุรกิจ
สินค้าประเภทเดียวกัน มักจะแข่งกันที่ราคาจริงไหม ?
Paper Studio : ที่ทำให้ธุรกิจเราล้มกัน เพราะว่า SMEs มันก็เล็กอยู่แล้ว คุณไปตัดราคา มันก็เละเทะเลย จริง ๆ ที่เกิดการตัดราคา เพราะราคามันเป็นอะไรที่เห็นกันง่าย แล้วมันตัดกันง่ายมาก เพราะใครจะดูสินค้าก็ดูราคาก่อนเลย ไม่ดูอะไรเลย
แสงตะวันบุ๊คส์ : มันเป็นด่านแรก เหมือนคบคนเราดูหน้าตาก่อน
Paper Studio : มันตัดง่ายที่สุดเลย ดังนั้นราคาจะเป็น Point แรกที่คนตัดง่ายที่สุดเลย ผมก็เลยมองว่า จริงๆ สินค้าที่ราคาสูง มันก็ต้องเป็นไปตามกลไก แล้วสักพักถ้าคุณรู้ว่าจุดแข็งของคุณอยู่ตรงไหนแล้วเนี่ย คุณจะสามารถไปต่อได้ แต่อาจจะไปต่อในมุมที่แบบ ไม่ได้มี Big Volume ที่เป็นแบบว่า Success กันเป็นหมื่นล้าน แต่ก็จะมีอยู่ใน Space ของมัน
สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเริ่มธุรกิจร้านค้าออนไลน์
Paper Studio : ในการจะเริ่มขายสินค้า สำคัญคือคุณก็ต้องหาว่าช่องทางไหนที่จะตอบโจทย์จะออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ ถ้าอย่างออฟไลน์มันมีโอกาสจะโดดต่อไปถึงช่องทางที่ว่าเราเป็นที่รู้จักกับตามในชุมชน และก็จะเป็นในเรื่องของสื่อทีวี สื่อโทรทัศน์ เราก็จะได้ Channel อื่น อย่างของผมก็เลือกช่องทางว่า LnwShop ให้เป็นคลังสินค้า แล้วก็ Facebook เพื่อที่จะเป็นช่องทางในการคุยกับลูกค้า Instagram ผมก็เลือก แต่กลุ่มคนใน IG น้อยกว่ามาก เพราะ Instagram เน้นของที่เป็นแฟชั่น คนที่ทำสินค้าพวกนี้ ถ้าเป็นแบบสีสวย Mood & Tone ได้ อันนี้ IG จะโอเค
แสงตะวันบุ๊คส์ : ถ้าอยากเริ่มทำอะไร ไม่ต้องลังเล ทำไปเลย มีชิ้นเดียวก็ทำได้ แล้วแม่ค้าออนไลน์ใหม่มีอีกอย่าง คือความมั่นใจในตัวเอง แม่ค้าใหม่ชอบมีคำถามว่า จะขายได้หรือเปล่านะ ร้านค้าออนไลน์แบบนี้เยอะแล้ว ราคาก็ไม่แพง จริง ๆ เราไม่ต้องไปสนใจว่าร้านนั้นขายราคาเท่าไหร่ แค่ว่าเราต้องหาราคาที่เราโอเคกับตัวเอง ไม่สูงมากไป คนซื้อได้ ไม่ต่ำ และไม่ไปตัดหน้าเขาก็พอ อย่างร้านเราขายราคานี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังขายราคานี้อยู่ บางเจ้าขายถูก ไม่คิดถึงความยากลำบาก ในการกว่าจะได้ของมา ลงเรือมาอีกไม่ได้ซื้อง่าย ๆ ก็อย่าถูกมากอย่าแพงมากนัก แล้วก็ไม่ต้องไปห่วงเลย มีความมั่นใจตัวเอง ขายไปเถอะ ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องไปหวั่นคู่แข่ง ขายของตัวเองไป เดี๋ยวมันจะมาเอง ขายในทางที่เราโอเค
เป็นยังไงบ้างคะ กับแนวคิดการทำร้านค้าออนไลน์ของสองร้านค้าเทพของเรา Sayreya เห็นด้วยทุกประการกับทั้งสองร้านค้าเลยล่ะ ! ใครที่อ่านถึงตรงนี้แล้วก็อย่าลืมนะคะ หาสิ่งที่รัก สิ่งที่เราชอบให้เจอ แล้วทุ่มให้สุดแรงด้วย Passion ที่เรามี มั่นใจในตัวเอง แล้วเดี๋ยวผลดีจะตามมาเอง Sayreya เป็นกำลังใจให้เจ้าของร้านค้าออนไลน์ทุกร้านเลยค่ะ :)