#Lnwขอแชร์ วิธีใช้ AI สร้างคอนเทนต์ปัง ๆ ให้กับร้านค้าออนไลน์ แต่ละเครื่องมือจะทำงานได้ดีแค่ไหน วันนี้ Dekluan จะมาแชร์ประสบการณ์จริงของการใช้ AI อย่าง ChatGPT และ Gemini ช่วยสร้างคอนเทนต์บนออนไลน์ ให้ร้านค้าได้รู้กันว่ามันทำได้จริงหรือจกตากันแน่!
หัวข้อบทความ
- สร้างคอนเทนต์ด้วย AI ทำได้จริงเหรอ !?
- แชร์ความปังของ AI Content จากประสบการณ์ใช้งานจริง
- วิธีใช้งาน ChatGPT และ Gemini เบื้องต้น
สร้างคอนเทนต์ด้วย AI ทำได้จริงเหรอ !?
คำถามนี้อาจจะไม่ใช้คำถามแปลกใหม่แล้วในยุคนี้ ยุคที่ทุกคนต่างก็ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูล หรือสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้ และไม่เคยได้ลองเล่น เรื่องนี้ก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะค่ะ
สำหรับ Dekluan เองที่เป็นมือใหม่ (?) หัดใช้มาได้สักพัก ก็ตื่นเต้นมาก ๆ เหมือนกันที่จะได้แชร์วิธีการทำงานด้านคอนเทนต์ด้วย AI ให้ทุกคนได้ทราบกัน เริ่มต้นจากการแนะนำเครื่องมือที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ คือ ChatGPT และ Gemini จาก Google
- ChatGPT : โมเดลภาษาที่พัฒนาโดย OpenAI เพื่อสร้างข้อความและตอบคำถาม โดยใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของ Machine Learning ที่มีการเปิดตัวในปี 2020 และได้รับการฝึกด้วยข้อมูลจำนวนมากจากอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถใช้ได้หลากหลายตั้งแต่การช่วยเขียนบทความไปจนถึงการตอบคำถามของลูกค้า
- Gemini : เครื่องมือ AI ที่พัฒนาโดย Google เน้นการประมวลผลภาษาธรรมชาติและการสร้างเนื้อหา เปิดตัวในปี 2023 ออกแบบมาเพื่อช่วยในงานค้นหา วิเคราะห์ข้อมูล และสร้างคอนเทนต์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เข้ากันได้ดีกับบริการต่าง ๆ ของ Google
โดยทั้ง 2 เครื่องมือนี้ เป็นเครื่องมือที่ Dekluan ใช้ในการสร้างคอนเทนต์จริง ๆ ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแคปชั่นบนเพจ LnwShop หรือบทความใน Blog.lnw
ซึ่งด้วยความสามารถของ ChatGPT และ Gemini ก็ช่วยทุ่นแรงในการคิดและค้นคว้าข้อมูลไปได้เยอะมาก เพราะเครื่องมือเหล่านี้ จะเข้ามาช่วยเสริมข้อมูลที่ขาดตกพบพร่อง และช่วยวิเคราะห์ความน่าสนใจในเนื้อหา ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้ AI เข้ามาช่วยยังไง ก็ยังคงต้องอาศัยความลื่นไหลทางภาษาที่มนุษย์อย่างเราได้เปรียบกว่า AI มาช่วยขัดเกลาผลงานอยู่ดีนะคะ
แชร์ความปังของ AI Content จากประสบการณ์ใช้งานจริง
ความสนุกของการทำงานร่วมกับ AI คือการได้พูดคุยหรือรับข้อมูลจากเครื่องมือที่ถูกต้องและตรงใจ โดยการทำงานร่วมกับ AI มีข้อดีหลายอย่าง เช่น การช่วยคิดแคปชั่นบนโซเชียลมีเดีย การวางโครงสร้างบทความ การคิดสตอรี่บอร์ดสำหรับวิดีโอ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ภาพกราฟิก ซึ่งทำให้การทำงานเหล่านี้เร็วขึ้นและได้มุมมองใหม่ ๆ ที่บางครั้งเราคิดไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ AI ช่วยคิดผลงานออกมานั้น ก็ต้องมีข้อมูลป้อนไปให้โปรแกรมประมวลผล ยิ่งข้อมูลมากและละเอียดเท่าไหร่ การวิเคราะห์ก็จะยิ่งตรงกับความต้องการของเรามากขึ้นเท่านั้น
ยกตัวอย่าง ถ้าต้องการสร้างงานวิดีโอขึ้นมาสักหนึ่งตัว เราก็จะต้องมีข้อมูลคร่าว ๆ ดังนี้
- วิดีโอนี้เป็นวิดีโอเกี่ยวกับอะไร
- กลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มผู้รับสารเป็นคนแบบไหน
- คีย์เวิร์ดที่เราต้องการสื่อสารคืออะไร
- ความยาวของวิดีโอ ยาวนานเท่าไหร่
- โทนภาพและอารมณ์เป็นประมาณไหน
- วิดีโอเป็นภาพกราฟิกหรือคนแสดง
- Reference วิดีโอที่ใกล้เคียง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างข้อมูลที่เราป้อนให้ AI ช่วยวิเคราะห์และออกแบบวิดีโอ ซึ่งหากเรายังมีไอเดียไม่ชัดเจนก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะสามารถป้อนข้อมูลเท่าที่มี และพูดคุยปรึกษากับ AI ต่อได้เลยว่า วิดีโอของเราควรเพิ่มหรือปรับลดอะไรบ้าง ควรวางแผนไปในทิศทางใด เรียกได้ว่า มี AI เป็นเพื่อนอีกคนนึงที่ช่วยเราคิดงานนั่นแหละค่ะ
ความแตกต่างของ ChatGPT vs Gemini
จากประสบการณ์ที่ได้ลองใช้มาทั้ง 2 เครื่องมือ คิดว่าทั้ง 2 เครื่องมือนี้ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- การวิเคราะห์ – ChatGPT โดดเด่นเรื่องการวิเคราะห์และให้คำแนะนำที่เข้าใจง่าย สามารถอ่าน Link วิเคราะห์ข้อมูลได้ดี
- การสร้างคอนเทนต์ – Gemini จะสร้างคอนเทนต์ที่มีความยาว สรุปเป็นข้อให้เข้าใจง่าย นำเสนอรูปแบบคอนเทนต์ให้เลือกใช้ตามความสนใจ (เน้นดึงดูด, เน้นขายสินค้า, เน้นประโยชน์ เป็นต้น) ในขณะที่ ChatGPT จะสรุปเป็นข้อความสั้น กระชับ ไม่ลงรายละเอียด
- การสร้างวิดีโอ – ทั้ง 2 เครื่องมือมีการลงรายละเอียดวิดีโอในแต่ละซีนเช่นเดียวกัน แต่ ChatGPT จะได้เปรียบตรงสามารถอ่าน Link ได้ ทำให้เวลาที่เราแนบลิงก์ตัวอย่างไป ChatGPT จะพยายามคิดเนื้อหาและรูปแบบวิดีโอที่ใกล้เคียงกับตัวอย่างที่เราอยากได้
- การเขียนบทความ – ทั้ง 2 เครื่องมือมีความสามารถในการปรับปรุงบทความให้มีภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ Gemini จะปรับปรุงพร้อมบอกเหตุผลและรายละเอียดในการปรับแต่ง
**ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ได้ลองใช้งาน
วิธีใช้งาน ChatGPT และ Gemini เบื้องต้น
สำหรับการเริ่มต้นใช้งานเครื่องมือ 2 ตัวนี้ก็ง่ายมาก เพียงเข้าไปในเว็บไซต์เหล่านี้
- https://chatgpt.com หรือ https://gemini.google.com
- Sign-in เข้าใช้งานระบบ
- ถามสิ่งที่ต้องการรู้ได้เลย!
โดยในการใช้งานนี้ จะใช้งานในเวอร์ชั่นฟรีที่ในแต่ละเครื่องมือจะมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป
- ChatGPT – สามารถถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่จะจำกัดจำนวนครั้งในการสอบถาม เมื่อใช้ครบโค้วต้าจะไม่สามารถถามได้อีกจนกว่าจะครบเวลาที่ถูกจำกัด แล้วจึงจะกลับมาใช้งานได้ (ประมาณ 5 ชั่วโมง – ข้อมูลจากการใช้จริง)
- Gemini – สามารถถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่อาจมีข้อจำกัดในการใช้งานฟีเจอร์ขั้นสูงอื่น ๆ
ข้อดีของการใช้ AI ช่วยทำคอนเทนต์
- ประหยัดเวลาในการคิด ลดการทำงานซ้ำซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้า การเรียบเรียง หรือการตรวจสอบไวยากรณ์และการสะกดคำ ทำให้เรามีเวลาทำงานอื่น ๆ มากขึ้น
- ได้มุมมองใหม่ ๆ ในการสื่อสารกับลูกค้า AI สามารถให้แนวคิดหรือวิธีการสื่อสารใหม่ ๆ ที่เราอาจไม่เคยนึกถึง
- ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้การสร้างคอนเทนต์ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
- สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ผ่านออนไลน์
- ลดต้นทุนการผลิต AI ช่วยลดต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ลงได้ เพราะไม่ต้องจ้างนักเขียนหรือผู้เชี่ยวชาญเยอะ ก็สามารถสร้างเนื้อหาได้
ข้อเสียของการใช้ AI ช่วยทำคอนเทนต์
- ต้องเรียนรู้เครื่องมือ AI แต่ละประเภทมีความสามารถที่แตกต่างกัน ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพื่อใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ขาดความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจาก AI ทำงานแบบรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผล ทำให้บางครั้งเนื้อหาอาจขาดความสร้างสรรค์และเฉพาะเจาะจง
- ขาดความเข้าใจในบริบท บางครั้ง AI อาจไม่เข้าใจบริบท หรืออารมณ์ที่เราต้องการสื่อสาร ทำให้สร้างคอนเทนต์ออกมาไม่ตรงกับความต้องการ
- ขาดแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน เนื้อหาที่สร้างโดย AI บางครั้งอาจขาดแหล่งที่มาของข้อมูล ทำให้เนื้อหาดูไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
- จำกัดการใช้งานในเวอร์ชั่นฟรี การใช้งานฟรีมีข้อจำกัดบางประการ เช่น จำนวนครั้งในการใช้หรือฟีเจอร์ที่สามารถเข้าถึงได้
สุดท้าย Dekluan แนะนำให้ลองใช้ทุกเครื่องมือและเลือกเครื่องมือที่ตอบสนองกับความต้องการของเรามากที่สุด หรือจะใช้ทั้งสองเครื่องมือควบคู่กัน เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการสร้างคอนเทนต์ก็ได้นะคะ
เพราะงั้นใครที่ยังไม่เคยลองเรียนรู้ หรือหยิบ AI Content มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ ก็อย่าลืมลองไปฝึกใช้งานกันดู แล้วคุณจะพบว่า AI Content เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยทำให้การทำงานง่ายขึ้นและสนุกขึ้นได้อย่างแน่นอน!
ครั้งหน้า Dekluan จะมาแชร์ข้อมูลหรือเครื่องมืออะไรให้กับเหล่าเจ้าของร้านค้าเทพอีก อย่าลืมติดตามกันนะคะ วันนี้ลาไปก่อนแล้วค่ะ บ๊ายบาย!