สินค้าควบคุมฉลาก

ชวนร้านค้าทำความรู้จักกับสินค้าควบคุมฉลาก สินค้าที่มีข้อบังคับให้แสดงข้อมูลรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค แต่สินค้าควบคุมฉลากที่ว่านี้จะมีสินค้าประเภทไหนบ้าง และข้อมูลอะไรที่จำเป็นต้องแสดงในฉลากสินค้า วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาให้คุณแล้วค่ะ

ประเภทของสินค้าควบคุมฉลาก

รายชื่อสินค้าควบคุมฉลากตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2565 นั้น มีด้วยกัน 8 ประเภท คือ

  1. ของใช้ประจำบ้าน เช่น กระจกเงา, กระดาษเช็ดหน้า, กระดาษชำระ, กระติกน้ำร้อน, โต๊ะ, ตู้, เตียง เป็นต้น
  2. ของใช้ส่วนบุคคล เช่น แว่นตา, กรอบแว่นตา, กำไล, เข็มขัด, หน้ากากผ้า, หน้ากากอนามัย เป็นต้น
  3. กระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และเครื่องเขียน เช่น กระดาษพิมพ์, กระดาษห่อของขวัญ, สมุด, อุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น
  4. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เช่น เครื่องชงกาแฟ, จอรับภาพ, เครื่องเสียง, โคมไฟ, อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
  5. ยานยนต์และอุปกรณ์ ได้แก่ แบตเตอรี่, ฟิล์มกรองแสง, สีสเปรย์พ่นรถ, รถจักรยาน อะไหล่ อุปกรณ์ และอะไหล่ อุปกรณ์ รถยนต์ รถจัรยานยนต์
  6. เกษตรกรรม เช่น กระบอกฉีดหรือพ่นยาฆ่าแมลง, คราด จอบ พลั่ว เสียม, สายยางส่งน้ำ เป็นต้น
  7. วัสดุก่อสร้าง เช่น กบไสไม้ เกียง, ตะปู น็อต สกรู, แผ่นฉนวนกันความร้อน เป็นต้น
  8. อื่น ๆ เช่น กรรไกร, กุญแจ, อุปกรณ์กีฬา, เครื่องดนตรี, อัลบั้มเก็บภาพ เป็นต้น
ดูรายชื่อสินค้าแต่ละประเภททั้งหมด ที่นี่ >> กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าควบคุมฉลาก พ.ศ.2565 << 

ข้อมูลที่ต้องมีในฉลากสินค้า

เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างถูกต้องและครบถ้วน คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงได้ออกประกาศ เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุม พ.ศ. 2541 เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า จัดทำฉลากให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่เหมาะสม

โดยฉลากสินค้าที่ควบคุมนั้น ต้องระบุข้อความ รูป รอยประดิษฐ์ หรือภาพตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี แต่ข้อความทั้งหมดนั้นจะต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้านั้น ๆ และต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ เพื่ออธิบายให้เข้าใจตามความหมายของรูป  รอยประดิษฐ์ หรือภาพ ที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

ซึ่งข้อมูลที่ต้องมีในฉลากสินค้าควบคุม มีดังนี้

  1. ชื่อประเภท หรือชนิดของสินค้า เพื่อให้ทราบว่าสินค้านั้นคืออะไร กรณีเป็นสินค้าสั่งหรือนำเข้า ต้องระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย
  2. ชื่อ หรือเครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิต เพื่อขายในประเทศไทย
  3. ชื่อ หรือเครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
  4. สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือสถานที่ตั้งของผู้สั่ง/ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี
  5. ขนาด, มิติ, ปริมาณ, ปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้านั้น ๆ แล้วแต่กรณี สำหรับหน่วยวัดจะใช้เป็นชื่อเต็ม, ชื่อย่อ หรือสัญลักษณ์แทนก็ได้
  6. วิธีใช้ เพื่อให้ทราบว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด เช่น ใช้ทำความสะอาด หรือใช้เก็บอาหาร ใช้เข้าไมโครเวฟได้ เป็นต้น
  7. ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้ เพื่อความถูกต้องในการใช้ประโยชน์ของผู้บริโภค
  8. คำเตือน (ถ้ามี)
  9. วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้งาน หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อนวันเดือนปีที่ระบุนั้น (ถ้ามี) เพื่อให้เข้าใจประโยชน์หรือคุณสมบัติของสินค้า
  10. ราคา โดยระบุหน่วยเป็นบาท หรือจะระบุเป็นสกุลเงินอื่นด้วยก็ได้

สำคัญ! ข้อมูลของฉลากสินค้า ไม่ว่าจะถูกแสดงในตำแหน่งไหนของผลิตภัณฑ์ จะต้องสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

บทลงโทษ

  1. ผู้ใดจัดทำฉลากโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลาก แต่ฉลากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ผู้ผลิต, ผู้สั่ง หรือ ผู้นำเข้าสินค้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ไม่จัดทำฉลากตามประกาศฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และนี่ก็คือเรื่องราวของสินค้าควบคุมฉลากที่เรานำมาฝากกันนั่นเองค่ะ สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็อย่าลืมใส่ใจเรื่องของฉลากสินค้า และการแสดงข้อมูลสินค้าให้ครบถ้วนกันด้วยนะคะ เพราะนอกจากจะมีผลเรื่องกฎหมายแล้ว ฉลากสินค้า ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจซื้อของลูกค้าด้วยค่ะ

แหล่งข้อมูล

อ่านข้อมูลอัพเดทอื่น ๆ >>ที่นี่<<