กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งย้ำเตือนร้านค้าออนไลน์ ห้ามซื้อขาย และโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านออนไลน์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
“ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ หรือพืชนิโคเทียนา ทาแบกกุ้ม (Nicotiana tabacum) รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นใดที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งบริโภคโดยวิธีสูบ ดูด ดม อม เคี้ยว กิน เป่า หรือพ่นเข้าไปในปากหรือจมูก ทา หรือโดยวิธีอื่นใด เพื่อให้ได้ผลเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยาตามกฎหมายว่าด้วยยา
“ยาสูบ” ผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมการขายบนออนไลน์
ในสภาวะโรคระบาด COVID-19 ผู้คนนิยมจับจ่ายใช้สอยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ร้านค้าออนไลน์หลาย ๆ ร้านหละหลวมในเรื่องข้อกฎหมายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ทำให้กรมควบคุมโรคต้องแจ้งย้ำเตือน ถึงการกระทำที่ผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์ตระหนักถึงข้อกำหนดบทลงโทษมากขึ้น
โดยส่วนหนึ่งของบทลงโทษจากการกระทำความผิดในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เราได้สรุปมาให้คุณแล้ว ดังนี้
- มาตรา 27(2) – ห้ามผู้ขายปลีก ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์
- ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท
- มาตรา 30 – ห้ามผู้ใดโฆษณา หรือทําการสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ
- กำหนดโทษ
- บุคคลทั่วไป : ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง
- ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้รับทำโฆษณาฯ : ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายโฆษณา/ทำการสื่อสารการตลาด ทั้งนี้ค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง
- มาตรา 34 – ห้ามผลิต นำเข้า ขาย โฆษณา หรือสื่อสารทางการตลาด ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือก็คือ
- สิ่งที่มีลักษณะเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น หมากฝรั่ง ของเล่น พวงกุญแจ ที่ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายบุหรี่ เป็นต้น
- สิ่งที่บริโภคโดยวิธีสูบ และเป็นสารที่อันตรายต่อสุขภาพ (รมต. ประกาศกำหนด) เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ เป็นต้น
- สิ่งที่เป็นหีบห่อของสิ่งที่มีลักษณะเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสิ่งที่บริโภคโดยวิธีสูบ
- กำหนดโทษ – กรณีขาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และกรณีผลิต นำเข้า โฆษณา ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- มาตรา 38 – ห้ามผู้ใดขายผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่ได้จัดให้มีหีบห่อ หรือห้ามไม่ให้ขายผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมายการค้า สัญลักษณ์ รูปภาพ ข้อความ และฉลาก ที่สื่อได้ถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น เสื้อที่มีลายรูปบุหรี่ ซิกาแร็ต หรือกล่องใส่บุหรี่ที่ยี่ห้อสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
- ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ทั้งนี้ ร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูข้อมูลสาระสำคัญของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ >>ได้ที่นี่<<
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่เรานำมาฝากกันค่ะ หวังว่า จะช่วยให้ร้านค้าเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายและบทลงโทษที่ต้องระมัดระวังในการโฆษณา หรือทำการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายมากขึ้นนะคะ
แหล่งข้อมูล