จากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่ว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

โดยบุคคลหรือนิติบุคคลใด ที่มีการเคลื่อนไหวรับโอนทางบัญชี ธนาคารจะต้องแจ้งให้กรมสรรพากรตรวจสอบ เรียกว่า “ธุรกรรมเป็นลักษณะพิเศษ” โดยดูจากเงื่อนไข 2 ข้อนี้

  1. ที่มีการเคลื่อนไหวบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือ
  2. การโอนรวม 400 ครั้ง (เปลี่ยนในที่ประชุม สนช. จากยอดเดิม 200 ครั้ง) และยอดเงินเกิน 2 ล้านบาท

โดยในที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 มีผู้แสดงตน 146 คน ลงมติเห็นชอบ 139 คน งดออกเสียง 7 คน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า นี่ไม่ใช่การบังคับจนเกินไป แต่เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ “ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ”

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30–39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง ดังนั้น ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย”