Google Shopping เป็นโฆษณารูปภาพรูปแบบใหม่จาก Google ที่จะแสดงผลผ่าน Search Engine ในเวลาเราค้นหาสินค้า โดยการแสดงผลจะมีการโชว์ข้อมูลชื่อสินค้า รูป ราคารวมถึงส่วนลด พร้อมให้เราตัดสินใจซื้อได้เลย โดยที่ไม่ต้องเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ ซึ่งทำให้ Google Shopping เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการโฆษณาที่ผู้ขายของออนไลน์ไม่ควรมองข้าม 

และเพื่อความสะดวกในการลงโฆษณาในรูปแบบ Shopping Ads สำหรับร้านค้าเทพ ทางเทพช็อปก็ได้มีการเปิดระบบเชื่อมต่อระหว่างร้านค้ากับ Google เพื่อให้กูเกิ้ลสามารถดูข้อมูลของสินค้าจากในระบบของเราไปแสดงผลผ่าน Shopping Ads ได้ โดยที่ร้านค้าไม่ต้องเข้าไปจัดการอัพโหลดฟีดสินค้า หรือตั้งค่าอื่น ๆ ผ่าน Google ซึ่งเราก็ได้เปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว!

แต่หลังจากที่ LnwShop ได้เปิดบริการลงโฆษณาแบบ Google Shopping มาแล้ว ทางเราได้พบปัญหาที่ร้านค้าส่วนใหญ่เจอ คือเรื่องของการตรวจสินค้าก่อนลงโฆษณาของกูเกิ้ล ที่มีการให้สินค้าผ่านทุกอย่างบ้าง ผ่านเฉพาะบางอย่างบ้าง ซึ่งทำให้บางชิ้นลงโฆษณาได้ บางชิ้นลงได้แต่ผลลัพธ์ไม่ดี หรือที่ร้ายแรงสุดก็คือ สินค้าชิ้นนั้นไม่สามารถลงโฆษณาได้เลย ในบทความนี้ผมจึงอยากสรุปสถานะการตรวจสอบสินค้าของกูเกิ้ล และวิธีการแก้ไข มาให้เจ้าของร้านที่ลงโฆษณาอยู่แล้วและเจอปัญหาดังกล่าว หรือผู้ขายที่กำลังอยากจะทำโฆษณาในรูปแบบนี้ได้ศึกษากันครับ

สถานะการตรวจสอบสินค้าของ Google

หลังจากที่ Google ได้ตรวจสอบข้อมูลสินค้าของเราเสร็จแล้ว จะมีการแสดงผลสถานะอยู่ 3 รูปแบบ ด้วยกัน คือ

  • สินค้าที่ใช้งานได้
  • สินค้าที่มีข้อผิดพลาด (ไม่สามารถใช้งานได้)
  • สินค้าที่มีข้อแนะนำ (ใช้งานได้ แต่แนะนำให้แก้ไข)

สำหรับบทความนี้ ผมจะมาชี้แจงรายละเอียด 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ สินค้าที่มีข้อผิดพลาด และสินค้าที่มีข้อแนะนำ 

1. สินค้าที่มีข้อผิดพลาด (ไม่สามารถใช้งานได้) ที่ไม่ผ่านตาม Policy ของ Google

เมื่อเห็นสัญลักษณ์นี้ หมายความว่า สินค้านั้นผิดกฏของ Google ไม่สามารถลงโฆษณาได้ ซึ่งทาง Google ก็ไม่ได้บอกว่าสินค้านั้นผิดกฏข้อไหน โดยพูดกว้าง ๆ ว่าผิดกฏ ดังนั้น ร้านค้าอาจจะต้องเข้าไปอ่านและพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไป มันคือกฏการลงโฆษณาที่ทาง Google ใช้ควบคุมโฆษณาทุกตัวที่ลงโฆษณาผ่าน Google ทางร้านสามารถเข้าไปอ่านได้เลยตามลิงก์ด้านล่าง

>>> นโยบายโฆษณา Google Shopping<<<

2. สินค้าที่มีข้อแนะนำ สามารถใช้งานได้แต่แนะนำให้แก้ไข เพื่อการแสดงผลโฆษณาที่ดีขึ้น

ในหัวข้อนี้มีหลากหลายแบบมาก โดยผมรวบรวมมาเท่าที่จะทำได้ โดยทั้งหมดที่ผมนำมาเขียนในบทความนี้ เป็นสิ่งที่ร้านค้าเจอมาหมดแล้ว น่าจะคลอบคลุมเคสของร้านค้า LnwShop เกิน 90% ซึ่งถ้ามีกฏข้อไหนที่ร้านค้ามีข้อสงสัย หรือเจอเพิ่มเติม สามารถส่งคอมเม้นมาได้เลยครับ และทางทีมงานจะเพิ่มกฏข้อนั้น ๆ เข้าไปในบทความ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อร้านค้าอื่นที่เข้ามาอ่านหลังจากนี้ด้วยครับ

วิธีการดูสถานะ

ลูกศรสีแดง – ชื่อและหมวดหมู่ของความผิดพลาด

  • วงเล็บ เป็นหมวดหมู่ของความผิดพลาด
  • หน้าวงเล็บ เป็นชื่อความผิดพลาด

อย่างเช่นตามรูปที่แนบมา หมวดหมู่ของความผิดพลาด คือ Additional image link ส่วนชื่อความผิดพลาด คือ Processing failed

ลูกศรสีน้ำเงิน – เป็นรายละเอียดของความผิดพลาด

ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด ผมได้ทำการรวบรวมไว้ด้านล่างหมดแล้ว ลองอ่าน ทำความเข้าใจ และลองแก้ไขกันได้เลยครับ

ความผิดพลาดหมวดหมู่ Title

  • Value too long – ชื่อสินค้า สามารถยาวได้ถึง 150 ตัวอักษร แต่จะแสดงผลเพียง 70 ตัวอักษรในโฆษณา Shopping Ads
  • Excessive capitalization – ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่มากเกินไป ตัวอย่างเช่น RAYBAN ข้อแนะนำในการใช้คือ Rayban หรือ RayBan แทน

 

ความผิดพลาด หมวดหมู่ Additional Image Link

  • Too many values – Google ไม่แนะนำให้มีตัวอักษร หรือลายน้ำในรูปภาพ แนะนำให้เป็นรูปภาพสินค้าที่ไม่มีตัวหนังสือเป็นส่วนประกอบ
  • Processing Failed – เป็นการดาวโหลดรูปภาพที่ผิดพลาดของทาง Google ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ในการรอ Google จัดการโหลดรูปภาพใหม่ ซึ่งถ้าเกิน 7 สามารถแจ้ง Google ได้โดยตรง ที่นี่

 

ความผิดพลาด หมวดหมู่ Image Link

  • Promotional overlay on image – รูปภาพมีลายน้ำที่เป็น Logo หรือ Promotion ให้นำออก ภาพที่ใช้ได้ต้องเป็นภาพที่ไม่มีลายน้ำ
  • Low image quality – ภาพสินค้ามีคุณภาพต่ำ แนะนำให้อัพโหลดภาพใหม่ที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิม เท่าที่ไปอ่าน Policy ของ Google ยังไม่มีบอกว่าคุณภาพของสินค้าขั้นต่ำเท่าไหร่

 

ความผิดพลาด หมวดหมู่ Price

  • Automatic item updates active – ราคาที่แสดงใน Google Shopping ไม่ตรงกับหน้าเว็บไซต์ ปัญหาเบื้องต้นที่เจอบ่อยคือ ใน 90 วันที่ผ่านมา ร้านค้าตั้งราคาส่วนลด โดยไม่เคยขายราคาเต็มเลย ดังนั้น เวลา Google ดึงราคาไปแสดงผลในโฆษณา จะใช้ราคาเต็ม ไม่ใช่ราคาส่วนลด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Google แจ้งว่า ราคาที่แสดงผลไม่ตรงกับหน้าเว็บ ตัวอย่าง
    • ตัวอย่าง หน้าเว็บขายราคาเต็ม 1,790 บาท ลดเหลือ 1,350 บาท โดยใน 90 วันร้านค้าไม่เคยขายราคาเต็มคือ 1,790 บาทมาเลย ทำให้ Google จะดึงราคาเต็มไปแสดงผล ทำให้ Google มองว่า ราคาไม่ตรงกับหน้าเว็บไซต์ ซึ่งราคาหน้าเว็บไซต์ คือ 1,350 บาท
  • Invalid Value – เกิดจากการที่ร้านค้าไม่ใส่ราคาสินค้า หรือใส่ราคาสินค้าเป็น 0 บาท แนะนำให้ร้านค้าใส่ราคาสินค้าให้ชัดเจนครับ

 

ความผิดพลาด หมวดหมู่ Description

  • Text too short – รายละเอียดสินค้าน้อยเกินไป ทั้งนี้ Google ไม่ได้แนะนำว่าควรจะต้องมีขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่เพื่อให้ลูกค้าอ่านแล้วเข้าใจ เราแนะนำให้ใส่รายละเอียดสินค้าเพิ่ม
  • Missing Value – รายละเอียดสินค้าไม่ได้ใส่ แนะนำให้ใส่รายละเอียดเพิ่มเข้าไปด้วย

 

ไม่มีหมวดหมู่

  • Unavailable desktop landing page – เกิดจากตอนที่ Google เข้ามาเก็บข้อมูลหน้าเว็บไซต์แล้วเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ ด้วยปัญหาบางประการ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะ LnwShop จะส่งสินค้าขึ้นไปให้ Google ตรวจสอบใหม่ และสินค้าจะค่อย ๆ ทยอยผ่านเองเรื่อย ๆ
  • Unavaliable mobile landing page – เป็นปัญหาเดียวกับปัญขอข้อล่าสุดด้านบน แต่เกิดกับการเข้าเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือ

ความผิดพลาดเพิ่มเติมอื่น ๆ

ในบางครั้ง สินค้าเราก็ผ่านหมดทุกชิ้น หรือมากพอที่จะลงโฆษณาได้แล้ว แต่โฆษณาก็ยังลงไม่ได้ซักที มันจะมีอีกเหตุผลที่ทำให้โฆษณาไม่แสดงผล ก็คือ นับจากวันที่สินค้าผ่าน ปริมาณคนเข้าหน้าเว็บไซต์มีไม่ถึง 100 คน ทำให้โฆษณาไม่แสดงผล

เนื่องจากการลงโฆษณาของเราเป็นระบบอัตโนมัติ ทำให้ปัจจัยหนึ่งในการเลือกคนเพื่อมาเห็นโฆษณาคือการทำ Retargeting กับเว็บไซต์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคนเข้าเว็บไซต์มากพอ (100 คน) จึงจะทำให้เว็บไซต์ลงโฆษณาได้ เพื่อประโยชน์ของทางร้านเอง

และเนื่องจากผมเริ่มเขียนบทความนี้จากสิ่งที่ร้านค้าทุกร้านเจอ ทำให้บทความไม่ได้ครอบคลุมทุกกรณีในอนาคต ผมเลยอยากจะขอความร่วมมือร้านค้า ถ้าเจอกรณีอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ไม่อยู่ในบทความนี้ ก็สามารถแจ้งผ่านช่องทางการติดต่อของเทพช็อปเข้ามาได้เลยนะครับ และทีมงานจะอัพเดทบทความให้เร็วและเป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับร้านค้าอื่น ๆ ที่เข้ามาอ่านหลังจากนี้ด้วยครับ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่หลังร้าน โดยเข้า URL ด้านล่างนี้

(url ร้านค้า)/manage/ads/best_practice/