การดำเนินสงครามทั้งในสมรภูมิรบและในธุรกิจ ย่อมแทบไม่แตกต่างกัน สามารถนำกลยุทธ์ในทางการรบห้ำหั่นปรับเปลี่ยนรูปแบบมาใช้ในโลกของธุรกิจได้ทุกกระบวนท่า ตำราพิชัยสงครามของซุนวู กล่าวไว้ว่า หลักสำคัญที่สุดของการทำสงครามคือ จะต้องได้ชัยชนะโดยเร็วที่สุด ไม่ควรทำสงครามยืดเยื้อ ที่จะมีแต่ผลเสียต่อบ้านเมืองของเรา
ผมได้เคยเขียนบทความเพื่อเตรียมความพร้อมในการรบไว้แล้ว แนะนำให้อ่านก่อนเพื่อทำให้เข้าใจมากขึ้นครับ ^_^ ประเมินสถานการณ์ก่อนรบ (ก่อนทำธุรกิจ) ตามหลักตำราพิชัยสงครามของซุนวู จากนี้ผมจะขอยกคำแปลจากจาก ตำราพิชัยสงครามของซุนวู บทที่ 2: การดำเนินสงคราม มาเป็นตอนๆ ที่สำคัญพร้อมกับการเปรียบเทียบใช้ในทางธุรกิจสลับกันไปครับ
ตำราพิชัยสงครามของซุนวู: การดำเนินสงคราม ช่วงที่ 1
ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า การเคลื่อนพลนั้น รถใช้ในการโจมตีอันเทียมด้วยม้าสี่ และรถพิทักษ์หุ้มเกราะหนังแต่ละพันคัน พลรบนับแสนซึ่งพร้อมสรรพด้วยเกราะ โล่ ดั้ง เขน การลำเลียงเสบียงอาหารในระยะทางไกลตั้งพันโยชน์ ค่าใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ รายจ่ายในการรับรองทูตานุทูต ค่าเครื่องอุปกรณ์อาวุธ เช่น กาวหรือยางไม้ ค่าซ่อมแซมเครื่องรบนานาชนิด ต้องใช้จ่ายวันละพันตำลึงทอง จึงสามารถยกพลจำนวนเรือนแสนได้
ในทางธุรกิจ: การดำเนินประกอบอาชีพและทำธุรกิจใดๆก็ตาม ต่างต้องใช้ทรัพยากรมากมายด้วยกันทั้งนั้น ทั้งพนักงานหลายสิบจนถึงหลายพันคน วัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ โรงงานและเครื่องจักร ทั้งอาหาร เครื่องดื่มเพื่อใช้เลี้ยงชีพ อุปกรณ์ต่างๆ ในที่ทำงาน ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดมากมาย ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองทั้งสิ้น ดังนั้นในเดือนๆ หนึ่งจะต้องเสียเงินไปเพื่อดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก
ตำราพิชัยสงครามของซุนวู: การดำเนินสงคราม ช่วงที่ 2
ดังนั้น การนำพลเข้าโรมรันกัน หลักสำคัญคือ รีบคว้าเอาชัยชนะเสียในเร็ววัน ถ้าปล่อยให้การรบยืดเยื้อแล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์จะลดความคมกล้า ขวัญทหารนับวันจะเสื่อมทราม เมื่อคิดจะโหมเข้าหักเมือง กำลังรี้พลก็อ่อนเปลี้ยแล้ว กองทัพต้องติดศึกอยู่นานวันฉะนี้ การคลังของประเทศก็จะเข้าตาจน อันอาวุธขาดความคมกล้า ขวัญทหารเสื่อมทราม กำลังรี้พลกะปลกกะเปลี้ย และทรัพย์สินเงินทองฝืดเคือง (เมื่อมีอันเป็นไปเช่นนี้) ประเทศราชทั้งหลายก็จักฉวยโอกาสลุกฮือขึ้นทันที
ในทางธุรกิจ: ดังนั้น การทำธุรกิจก็เช่นกัน หลักสำคัญคือ ต้องรีบหาทางดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ หากำไรได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่ควรทำธุรกิจต่อสู้กับคู่แข่งอย่างยืดเยื้อ ทำงานต่างๆให้สำเร็จลุล่วงให้ได้เร็วที่สุด หากช้าก็จะยิ่งทำให้พนักงานต่างเสียขวัญกำลังใจที่จะทำงานเพื่อบริษัทต่อไป นอกจากนั้นหากนานเข้าๆ กระแสเงินสดภายในบริษัทก็จะมีปัญหาแน่นอน
ตำราพิชัยสงครามของซุนวู: การดำเนินสงคราม ช่วงที่ 3
เบื้องนี้ ถึงแม้จะมีผู้กอปรด้วยสติปัญญาเฉียบแหลมปานใดก็ไม่สามารถบริหารงานให้เป็นไปโดยราบรื่นได้ ฉะนี้ ดั่งได้สดับมา การรบนั้น แม้ผู้เขลาก็ยังทราบว่าต้องการความรวดเร็ว ไม่เคยปรากฏว่าผู้ฉลาดใด นิยมการยืดเยื้อชักช้าเลย อันการศึกติดพันกันเป็นเวลานาน แต่ประเทศชาติกลับได้รับประโยชน์จากเหตุนั้น ยังไม่เคยปรากฏเลย จึ่งผู้ใดยังไม่ทราบผลร้ายของสงครามโดยถ่องแท้แล้ว ผู้นั้นยังไม่ทราบซึ้งถึงผลดีของสงครามเช่นเดียวกัน
ในทางธุรกิจ: ฉะนั้น ผู้บริหารแม้จะมีความฉลาดเพียงใด แต่หากไม่สามารถดำเนินการทำให้งานต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็ว ไม่สามารถทำกำไรให้บริษัทได้นั้น ก็จะทำให้บริษัทนั้นต้องย่ำแย่ และปิดตัวไปในที่สุด ผู้ฉลาดจริงๆแล้ว จะต้องทำงานอย่างรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อ การทำงานที่ช้านั้น ยังไม่มีผู้ใดบอกถึงประโยชน์ของมันได้เลย
ตำราพิชัยสงครามของซุนวู: การดำเนินสงคราม ช่วงที่ 4
ผู้สันทัดจัดเจนในการศึก เขาไม่ระดมพลถึงคำรบสอง เขาจะไม่ลำเลียงเสบียงอาหารถึง ๓ ครั้ง อาวุธยุทโธปกรณ์เครื่องใช้ซ่อมจากประเทศของตนเอง แต่เสบียงอาหารพึงเอาจากศัตรู กระนี้อาหารของเหล่าทหารจึงเพียงพอแล ประเทศจะยากจนลง
ก็เพราะต้องส่งเสบียงอาหารแก่กองทัพในระยะทางไกล ย่อมทำให้เหล่าประชายากแค้นแสนเข็ญ เพราะฉะนั้น ขุนพลผู้กอปรด้วยสติปัญญา พึงหาเลี้ยงรี้พลของตนจากศัตรู การกินข้าวของศัตรู ๑ ‘จง’ มีผลดีเท่ากับกินของตนเอง ๑๐ ‘จง’
ในทางธุรกิจ: ผู้บริหารกิจการที่เก่งกาจ จะรู้จักวิธีการใช้ทั้งทรัพยากรบุคคุลและทรัพยากรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือ ใครทำสิ่งใดได้ดีต้องให้ทำหน้าที่ในด้านนั้นๆ การต่อสู้ทางด้านธุรกิจก็ควรหาโอกาส และฉกฉวยข้อดีของที่อื่นเพื่อปรับประยุกต์เข้ากับวิถีของตนเอง เมื่อเราทำได้ดีกว่า หรือเร็วกว่า หรือถูกกว่า ก็จะทำให้คู่ต่อสู้ยิ่งอ่อนแอลงเมื่อแข่งขันกับเรา
ตำราพิชัยสงครามของซุนวู: การดำเนินสงคราม ช่วงที่ 5
ดั่งนี้ การที่จะให้ทหารเข่นฆ่าข้าศึก ก็โดยปลุกปั่นให้เกิดความเคียดขึ้ง จะให้รี้พลหาญหักเข้าช่วงชิง สัมภาระทั้งหลายของศัตรู ก็โดยให้สินจ้างรางวัล ดั่งเช่นการรบด้วยยานรถ ผู้จับรถข้าศึกได้ ๑๐ คันขึ้นไป ต้องปูนบำเหน็จทหารเข้ายึดคนแรกให้ถึงขนาด แล้วเปลี่ยนธงประจำรถขึ้นทำเนียบของเรา เชลยศึกซึ่งจับได้นั้นต้องเลี้ยงดูโดยดีเพื่อช่วงใช้ตามควร นี้แหละจึงจะได้ชื่อว่า ยิ่งชนะข้าศึกเพียงใด ก็ยิ่งเพิ่มความเกรียงไกรแก่ตนเองเพียงนั้น