Nostalgia Marketing การตลาดจากความคิดถึง ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้

แฟชั่น Y2K, ฟังเพลง 90’s, โตมากับกามิ ฯ และอีกหลากหลายเทรนด์ที่เป็นกระแสจากเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยได้ยินกันมา รู้หรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “Nostalgia Marketing” หรือการตลาดจากความคิดถึง ที่จะดึงให้คุณหวนกลับไปร่วมคิดถึงความทรงจำวัยเด็ก ซึ่งเป็นการตลาดที่หลายแบรนด์เลือกใช้เพื่อเพิ่มโอกาสขายสินค้า และสร้างภาพลักษณ์ที่น่าสนใจให้ลูกค้าจดจำ เรื่องราวของการตลาดแบบ Nostagia จะเป็นอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกันค่ะ

ทำความรู้จัก Nostalgia Marketing

Nostalgia Marketing คือการตลาดที่ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกคิดถึงอดีตของลูกค้า เช่น คิดถึงเหตุการณ์ในอดีต สิ่งของ สถานที่ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ในเชิงบวก มากระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าหรือบริการเช่น กระแสแฟชั่นยุค Y2K ที่ทำให้คนที่หวนนึกถึงยุค 2000s ต้น ๆ แล้วหันกลับมาแต่งตัว ซื้อเสื้อผ้าแบบสมัยก่อน หรือแม้กระทั่งเปิดหนังเก่า ๆ ดู เพื่อย้อนรำลึกถึงวันวาน หรือคำที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ อย่าง ยุค 90’s ที่ใคร ๆ ก็ล้วนแล้วแต่บอกว่าเป็น “ยุคที่มีเสน่ห์” เป็นยุคทองของวงการเพลง มีข้าวของเครื่องใช้ที่จดจำได้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งร้านค้าสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับแคมเปญการตลาดที่กระตุ้นความทรงจำในอดีต เหตุการณ์ที่เคยพบเจอร่วมกับสินค้า/บริการ หรือเรื่องราวของร้านค้าในปัจจุบันได้

Nostalgia Marketing - 90s
[ภาพจาก Canva.com]

กลุ่มเป้าหมายของการตลาดรูปแบบนี้คือใคร

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของการตลาดรูปแบบนี้ ความจริงแล้วจะเป็นใครก็ได้ที่มีความหลังหรือความทรงจำให้นึกถึง โดยหากจำแนกเป็นกลุ่มให้เห็นภาพชัด ตามการแบ่ง Generation กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของ Nostalgia Marketing ได้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่ม Millennial และ Gen Y ที่ใช้ชวิตผ่านยุคสมัยตั้งแต่การสื่อสารทางไกล จนถึงยุคอินเทอร์เน็ต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Z หรือคนรุ่นใหญ่อย่าง Babyboom จะเข้าไม่ถึงการตลาดรูปแบบนี้ เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อเป็นเรื่องของความทรงจำ ความคิดถึง ทุกคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมย่อมเป็นกลุ่มเป้าหมายของการตลาดรูปแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น

ทำไมร้านค้าถึงต้องทำการตลาดแบบ Nostalgia ?

เพราะความคิดถึงเป็นความรู้สึกที่ทุกคนสัมผัสได้ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำแคมเปญเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและเพิ่มโอกาสขาย

จะเห็นได้ว่า ช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมของการตลาดแบบ Nostalgia ได้รับความนิยมมาตลอด ลูกค้าหลายคนยอมจ่ายเงิน เพื่อให้ได้ครอบครองความรู้สึกหรือสิ่งของที่เป็นสมือนความทรงจำของเขาอีกครั้ง

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตลาดในรูปแบบนี้จึงน่าสนใจสำหรับร้านค้าออนไลน์ และนอกจากนี้เราก็ยังมีอีก 6 เหตุผลที่จะมาเสริมให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าทำไมเราจึงควรเริ่มทำการตลาดรูปแบบนี้

  1. เชื่อมต่อกับลูกค้าทางอารมณ์ – การตลาดในรูปแบบนี้จะช่วยให้ร้านค้ากับลูกค้าเชื่อมต่อกันได้ด้วยความทรงจำเชิงบวกในอดีต ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความภักดีต่อร้านค้าและสร้างความไว้วางใจได้ด้วย
  2. โดดเด่นกว่าคู่แข่ง – การตลาดรูปแบบนี้ จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าถึงแง่มุมที่ไม่เหมือนใครในชีวิตของลูกค้า ด้วยประโยชน์จากความคิดถึง ทำให้สามารถสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งและสร้างเอกลักษณ์ที่โดนใจผู้คนได้
  3. มีเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม – เนื่องจากการอ้างอิงถึงเรื่องราวในอดีต มักจะกำหนดกลุ่มอายุของเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง สิ่งนี้จึงช่วยให้ร้านค้าสามารถปรับแต่งคอนเทนต์ที่ต้องการสื่อออกไป ให้เหมาะกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้
  4. สร้างการจดจำและระลึกถึง – ความคิดถึงที่เกิดขึ้นในแคมเปญการตลาด ทำให้เกิดความทรงจำและการจดจำในตัวลูกค้า เมื่อเขารู้สึกคุ้นเคยกับการอ้างอิงถึงอดีต พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะสนใจ มีส่วนร่วมกับเนื้อหา และจดจำร้านค้า ดังนั้น ความคิดถึงจึงสามารถช่วยเพิ่มการจดจำตราสินค้าและสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมแก่ผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าได้
  5. สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก – การเชื่อมโยงเรื่องราวของร้านค้ากับความทรงจำเชิงบวก ช่วยให้ธุรกิจสามารถถ่ายทอดความรู้สึกเชิงบวกเหล่านั้นไปยังสินค้า/บริการได้ ความสัมพันธ์เชิงบวกนี้ สามารถนำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น การรับรู้แบรนด์ที่ดีขึ้น และเพิ่มยอดขายในที่สุด
  6. เพิ่มความน่าสนใจให้กับร้านค้า – การตลาดแบบ Nostalgia ช่วยให้ร้านสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ ด้วยการผสมผสานเรื่องราวในอดีต คุณสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ร่วมกันสร้างการเชื่อมต่อที่แท้จริง วิธีเล่าเรื่องเล่านี้สามารถสร้างความไว้วางใจ ส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร้านค้า และสร้างความผูกพันที่ลึกซึ้งกับลูกค้าได้

ตัวอย่างแบรนด์ที่ทำการตลาดแบบ Nostalgia ในช่วงที่ผ่านมา

  • Coca-Cola ที่เปิดตัวอีกครั้งด้วยการออกแบบขวดรูปทรงคลาสสิก
  • Barbie การ์ตูนเจ้าหญิงในวัยเด็กที่นำเรื่องราวมาทำเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก
  • ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ เช่น Netflix, Disney+ Hot Star ที่นำภาพยนตร์เก่ามาลงในแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนที่คิดถึงได้เปิดดูหนังที่ชอบอีกครั้ง
  • นันยาง แบรนด์รองเท้าจากไทย ที่ทำคอนเทนต์เรื่องเล่าในอดีต ย้อนให้เห็นภาพจำว่าสินค้าของเขาอยู่คู่กับเรามาทุกยุคทุกสมัย

ทั้งนี้ ในการทำการตลาดแบบ Nostalgia สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ความรอบคอบในการใช้งานต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยนช์จากความคิดถึงและการขายสินค้าให้ได้ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความรู้เชิงลบกับแบรนด์

เคล็ดลับการทำ Nostalgia Marketing ให้มีประสิทธิภาพ จาก Indeed

1. พิจารณาเหตุการณ์สำคัญของร้าน เพื่อเชื่อมโยงแคมเปญกับเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางธุรกิจ, การรีแบรนด์ หรือวันครบรอบ โดยอาจนำโลโก้เก่ามาใช้ชั่วคราว เพื่อให้รำลึกถึงอดีต หรือนำเอาสินค้า/บริการในอดีตที่เคยมี ออกมาขายใหม่ในระยะจำกัด

2. ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับการผสมผสานอดีตกับแคมเปญการตลาด เช่น การทำคลิปล้อเลียนหนังเรื่องโปรดในอดีตแทนการอ้างอิงโดยตรง หรือล้อเลียนโฆษณายุคเก่า อย่างโฆษณาน้ำมันไดเกียว “ต้น ๆ รถเป็นอะไร” ที่ไม่ว่าใครได้ยินก็จำได้ นำมาปรับให้เข้ากับสินค้าของคุณ

Nostalgia Marketing - Meme
[ตัวอย่างการปรับคอนเทนต์จากโฆษณาไดเกียว]

3. คิดถึงความแตกต่างระหว่างอดีตและปัจจุบัน บางครั้งผู้คนอาจตีความเหตุการณ์ในอดีตทั้งดีและไม่ดีแตกต่างกันไป ดังนั้น เราจึงควรเลือกความทรงจำที่คนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นหลัก

4. ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ร่วมมือกับผู้สร้างเนื้อหา ที่เชี่ยวชาญในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อเพิ่มความถูกต้องของแคมเปญการตลาดแบบ Nostalgia ซึ่งการผสานความรู้และความเชี่ยวชาญเข้าด้วยกัน จะช่วยให้คุณสามารถสร้างแคมเปญที่น่าดึงดูดและน่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้โดนใจลูกค้าของคุณ

5. ใช้ประโยชน์จากเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้าง กระตุ้นให้ผู้คนแบ่งปันความทรงจำในอดีตที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าผ่าน Social Media วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างลูกค้าและร้านค้า และอาจจะขยายการเข้าถึงแคมเปญของคุณได้ด้วย


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับเรื่องราวของการตลาดแบบ Nostalgia ที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้นำไปปรับใช้กับแคมเปญการตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือกิจกรรมอื่น ๆ ของร้านค้าได้ไม่มากก็น้อยนะคะ 🙂

แหล่งข้อมูล