โฆษณาอาหาร

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ประกาศ หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการระบุข้อความโฆษณาที่ห้ามใช้ในการโฆษณาอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป

โดยประกาศฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาประกาศ หลักเกณฑ์การใช้คำและข้อความโฆษณาอาหารที่ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีความชัดเจน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ในมาตรา 40 ที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเกินความเป็นจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ

ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้มีการอัพเดตคำและข้อความที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพิ่มเติมจากฉบับเดิม พ.ศ. 2561 ดังนี้

คำที่ถูกประกาศเพิ่มเติม ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์ หรือสรรพคุณของอาหาร ได้แก่…

  • อย. รับรอง ปลอดภัย
  • เห็นผลเร็ว

ข้อความที่ถูกประกาศเพิ่มเติม ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาอาหาร รวมถึงการใช้ภาพที่สื่อให้เข้าใจได้ในความหมายเดียวกัน ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่…

1). ข้อความที่สื่อว่า มีสรรพคุณในการรักษาโรค

  • ป้องกันเนื้องอก
  • แก้ปัญหาอาการตกขาว
  • ป้องกันหรือต่อต้านเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไข้หวัด แบคทีเรีย เป็นต้น
  • รักษาโรคติดเชื้อ
  • แก้อาการความจําเสื่อม รักษาโรคอัลไซเมอร์
  • รักษาอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ
  • รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ไขมันพอกตับ
  • รักษาโรคไตเสื่อม นิ่วในไต
  • รักษาโรคเกาต์ รูมาตอยด์ เอสแอลอี
  • บรรเทาอาการข้ออักเสบ ข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ
  • รักษาโรคต้อ วุ้นในตาเสื่อม กระจกตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม ตาแห้ง เคืองตา แสบตา
  • บรรเทาอาการหูอื้อ ฟื้นฟูการได้ยิน
  • รักษาโรคริดสีดวงทวาร  กรดไหลย้อน
  • รักษาโรคปอดอักเสบ วัณโรค หลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรัง
  • รักษาโรคผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน

2). ข้อความที่สื่อว่า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย

  • บํารุงตับ บํารุงไต บํารุงสายตา
  • ล้างลําไส้
  • ปรับสายตาสั้น-ยาว ให้เป็นปกติ
  • ขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ลดอาการวัยทอง ร้อนวูบวาบ
  • กรอบหน้าชัด เหนียงหาย หน้ายก  หน้าเรียว หนังตาตกเป็นตาสองชั้น รอยขมวดคิ้วหาย รองแก้มตื้น จมูกเข้ารูป

3). ข้อความที่สื่อว่า มีสรรพคุณเกี่ยวกับเพศ

  • เสริมสร้างศักยภาพทางเพศ
  • เพิ่มความต้องการทางเพศชาย / หญิง
  • เพิ่มฮอร์โมนเพศ
  • เพิ่มประสิทธิภาพน้ำอสุจิให้แข็งแรง
  • ช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้นาน
  • ลดอาการหลั่งเร็ว
  • ปลุกความเป็นชาย ปลุกเซ็กส์ อึด ถึก ทน ปลุกไวฟื้นง่าย
  • กระตุ้นความเป็นหญิง
  • คืนความเป็นหนุ่ม คืนความสาว

4). ข้อความที่สื่อว่า มีสรรพคุณเกี่ยวกับผิวพรรณ ความสวยงาม

  • ผิวขาว กระจ่าง ใส นุ่ม เด้ง ออร่า
  • ชะลอความแก่ ดูอ่อนกว่าวัย
  • แก้ผมร่วง ผมหงอก
  • ช่วยให้ผมและเล็บแข็งแรง
  • ช่วยดับกลิ่นตัว กลิ่นปาก

5). ข้อความที่สื่อว่า มีสรรพคุณในการลดน้ำหนัก

  • ลดไขมันส่วนเกิน
  • Firm
  • ลดต้นแขน ลดต้นขา ลดหน้าท้อง พุงหาย ช่วยให้แขนขาเรียว
  • หุ่นสวย หุ่นเป๊ะ
  • ผอมเร่งด่วน ลดน้ำหนักถาวร
คุณสามารถดูคำและข้อความโฆษณาทั้งหมดตามประกาศได้ที่
บทความ ข้อความโฆษณาต้องห้ามใช้ สื่อโฆษณาอาหารเกินจริง! (อัพเดทล่าสุด 2564)

ฉะนั้นแล้ว ร้านค้าเทพที่จำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องไม่ลืมตรวจสอบคำและข้อความที่ใช้ในการขายสินค้า ไม่ให้ผิดหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับนี้กันด้วยนะคะ

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564