E-Marketplace นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าหลาย ๆ ร้านได้เป็นอย่างดี และสำหรับร้านค้ามือใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นขายของบน E-Marketplace ต่าง ๆ จะต้องรู้สิ่งใดก่อนบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนการลงมือขายจริง วันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องนี้กันค่ะ
E-Marketplace คืออะไร ใครรู้บ้าง?
E-Marketplace หรือ Electronic Marketplace คือเว็บไซต์สำหรับการซื้อ-ขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ที่รวบรวมทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมให้บริการรับชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจร
ซึ่ง E-Marketplace ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยก็มากมายหลายผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee, JD Central หรือ Priceza เป็นต้น รวมถึง Lnw เอง ก็ได้มีการพัฒนา E-Marketplace ที่รวมสินค้าของร้านค้าใน LnwShop อย่าง LnwMall.com เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายให้กับร้านค้าเทพโดยเฉพาะด้วยเช่นกัน
ข้อมูลการขายที่ “ต้องมี” สำหรับการขายของออนไลน์บน E-Marketplace
การขายของออนไลน์ เรื่องของความน่าเชื่อถือ คือเรื่องสำคัญสำหรับร้านค้า เพราะการมีข้อมูลการขายที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าที่ร้านค้าของเราได้ง่ายขึ้น แล้วข้อมูลที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า ควรจะมีข้อมูลอะไรบ้าง? ไปดูกันค่ะ
1. ข้อมูลเจ้าของร้าน
ตัวตนของร้านค้าถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูกค้า เพราะถ้าลูกค้าไม่สามารถรับรู้ถึงตัวตนของร้านค้าได้ ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะสั่งซื้อสินค้ากับร้านนั้น ๆ แน่นอน การมีข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนของเจ้าของร้านจึงเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้
ซึ่งสำหรับการขายของบน E-Marketplace ร้านค้าก็ต้องทำการยืนยันตัวตน ตามนโยบายของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีการขอเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลของผู้ขายที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปแล้วเอกสารที่ร้านค้าต้องใช้สำหรับการยืนยันตัวตน จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
-
- กรณีที่ 1 เจ้าของร้าน เป็นบุคคลธรรมดา เอกสารที่ใช้สำหรับการยืนยันตัวตน คือ เอกสารสำเนาบัตรประชาชน ที่เห็นชื่อ-นามสกุล และวันหมดอายุบัตรที่ชัดเจน
- กรณีที่ 2 เจ้าของร้าน เป็นนิติบุคคล เอกสารที่ใช้สำหรับการยืนยันตัวตน คือ เอกสารสำเนาหนังสือรับรองบริษัท และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามนโยบายของแต่แพลตฟอร์ม
สำหรับร้านค้าเทพ สามารถดูรายละเอียดการลงทะเบียนร้านค้าได้ที่ >> ลงทะเบียนร้านค้าเทพ <<
2. ข้อมูลการรับชำระเงิน
สำหรับการขายของผ่าน E-Marketplace เรื่องของช่องทางการชำระเงินก็จะต้องเป็นไปตามรูปแบบของ E-Marketplace นั้น ๆ ซึ่งจะใช้ช่องทางรับชำระเงินเป็นช่องทางพื้นฐานของระบบเอง แต่ในการถอนเงินออกจากระบบเมื่อขายสินค้าได้ ร้านค้าก็อาจจะต้องมีข้อมูลบัญชีรับเงินของตัวเอง
ซึ่งการยืนยันบัญชีรับเงินนั้นก็สำคัญ ควรมีชื่อบัญชีที่ตรงกับเอกสารยืนยันตัวตนเจ้าของร้าน
เพราะจะได้ง่ายต่อการตรวจสอบว่าบัญชีรับเงินนี้เป็นของทางร้านจริง ๆ ไม่ได้มีใครมาแอบอ้าง
3. ข้อมูลสินค้า
ขายสินค้าก็ต้องมีข้อมูลสินค้า ซึ่งการมีแค่รูปสินค้า, ชื่อสินค้า และราคา คงไม่เพียงพอสำหรับการซื้อขายออนไลน์ เพราะลูกค้าไม่สามารถจับต้องสินค้าได้จริง ๆ ก่อนการสั่งซื้อ ร้านค้าจึงควรแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างละเอียด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและเลือกซื้อสินค้ากับร้านค้าของเราด้วยความสบายใจ โดยข้อมูลหลัก ๆ ที่ควรมีในการอธิบายสินค้า ก็มีดังนี้
-
- ชื่อสินค้า
- รูปภาพสินค้า
- ราคาขาย
- หมวดหมู่สินค้า
- รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า (วิธีใช้งาน, ส่วนผสม, คำเตือน, ข้อแนะนำ)
- ความพร้อมในการขายสินค้า
4. ช่องทางการติดต่อร้านค้า
ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้าช่องทางไหน ก็มักจะมีลูกค้าหลายคนที่นิยมสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ ซึ่งบน E-Marketplace ก็จะมีช่องทางให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับร้านค้าได้โดยตรงผ่านการแชท หรือบางแพลตฟอร์ม ก็แสดงช่องทางการติดต่อร้านค้า เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปดูข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ หรือ E-mail ในการติดต่อร้านค้าได้ด้วย
5. ข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
อีกหนึ่งข้อมูลที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นสิ่งที่มีผลตามกฎหมาย นั่นคือการจดทะเบียนพาณิช์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งร้านค้าออนไลน์ทุกร้านควรที่จะลงทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์<<
และข้อมูลทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการซื้อสินค้าของลูกค้า เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจ ในการสั่งซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์ ด้วยข้อมูลสำคัญสำหรับการซื้อขาย และช่องทางการติดต่อที่ร้านค้าได้แจ้งไว้
สิ่งที่ควร “เข้าใจ” ในการเริ่มต้นขายสินค้าออนไลน์
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การขายของออนไลน์ไม่ว่าจะขายผ่านเว็บไซต์ หรือ E-Markeplace ก็ต้องมาควบคู่กันกับความน่าเชื่อถือ เพราะในการขายของออนไลน์ ลูกค้าไม่สามารถเลือกสินค้า หรือจับต้องสินค้าได้ก่อนทำการตัดสินใจสั่งซื้อ ความน่าเชื่อถือ หรือการทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเชื่อถือได้ จึงเป็นสิ่งที่ร้านค้าต้องแสดงให้ลูกค้าได้เห็น
โดยการจะทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านั้น ร้านค้าต้องมีความข้าใจในข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้เสียก่อน
1. เข้าใจสินค้า
ร้านค้าต้องรู้จัก “สินค้า” ที่ขายเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถให้ข้อมูลแก่ลูกค้าได้ ต้องศึกษาถึงประโยชน์ วิธีการใช้งาน การประยุกต์ใช้ รวมถึงการซ่อมและบำรุงรักษาสินค้าในเบื้องต้นด้วย เมื่อลูกค้าเกิดคำถาม และร้านค้าสามารถให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ ลูกค้าจะรู้สึกประทับใจในการซื้อสินค้ากับร้านค้าของเรามากขึ้น
2. เข้าใจลูกค้า
สิ่งสำคัญสำหรับการขายสินค้า คือร้านค้าต้องรู้จัก “ลูกค้า” ของตัวเอง ในที่นี้หมายถึง รู้จักกลุ่มเป้าหมายที่จะเสนอขายสินค้า ต้องรู้ว่าสินค้าของเราเหมาะกับลูกค้าแบบไหน, ลูกค้ากลุ่มไหนคือคนที่ต้องการสินค้า และลูกค้ากลุ่มไหนคือคนที่สามารถใช้งานสินค้าของเราได้บ้าง เป็นต้น
3. เข้าใจตลาด
“ตลาด” ในที่นี้ คือความต้องการสินค้าและคู่แข่ง เราจำเป็นต้องทราบว่า คู่แข่งที่สำคัญสำหรับร้านค้าของเราคือใคร หรือมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการขาย และต้องทราบด้วยว่า ตลาดของสินค้า มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
4. เข้าใจช่องทาง
อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือ “ช่องทาง” ซึ่งเมื่อขายของออนไลน์ก็ต้องรู้จักใช้ช่องทางการขายต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการขาย เช่น ขายของผ่าน Lazada, Shopee ก็ควรรู้จักฟังก์ชันการใช้งาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการขาย ลงข้อมูลสินค้า, โพสต์ขายของ, Live ขายสินค้า เป็นต้น
ซึ่งหากร้านค้ามีความเข้าใจใน 4 ข้อมูลเบื้องต้นนี้ ก็จะช่วยให้การขายของออนไลน์ของคุณ สะดวกสบาย และมีแบบแผน พร้อมรองรับผู้ที่สนใจที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของคุณได้ง่ายมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ
อ่านรายละเอียด “ยอมรับ” เงื่อนไขในการขาย ของแต่ละแพลตฟอร์ม
สิ่งสำคัญสำหรับการขายของบน E-Marketplace นั่นคือ “เงื่อนไข” ในการขายสินค้าในแต่ละแพลตฟอร์ม เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีเงื่อนไขสำหรับผู้ขายแตกต่างกันออกไป เช่น เงื่อนไขในเรื่องของการลงทะเบียนผู้ขาย, การเก็บค่าธรรมเนียม, การขนส่งสินค้า และการรับเงิน เป็นต้น
ฉะนั้น ในขั้นตอนของการสมัครใช้งาน ร้านค้าจึงจำเป็นต้องอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วน ก่อนที่จะยอมรับเงื่อนไข
เพราะข้อมูลเหล่านี้คือข้อมูลสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อร้านค้าในอนาคต
บริการหลังการขายคือปัจจัยเกิดการ “ซื้อซ้ำ”
เมื่อการสั่งซื้อสินค้าเสร็จสิ้น อาจจะไม่ได้หมายถึงจบกระบวนการขาย การให้บริการหลังการขาย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ร้านค้าควรมี เพื่อรองรับคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการขาย ไม่ว่าจะเป็น
- ปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานสินค้า
- คำแนะนำการใช้สินค้า/ข้อสงสัยต่าง ๆ
- การร้องเรียนขอคืนเงิน/ไม่พอใจสินค้า
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ร้านค้าไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะหากเราสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ลูกค้าได้ ย่อมสร้างความประทับใจให้ลูกค้าในการสั่งซื้อ และอาจจะทำให้ลูกค้าเหล่านั้น กลับมาเป็นลูกค้าของเราอีกครั้ง
และนี่ก็คือ 4 เรื่องควรรู้ ! สำหรับการขายของออนไลน์บน E-Marketplace ที่ร้านค้าจำเป็นต้องรู้ข้อมูลก่อนเริ่มต้นการขาย ซึ่งหากเรารู้ข้อมูลก่อน ก็ย่อมมีโอกาสเตรียมตัว เตรียมความพร้อมในการขายได้ง่ายขึ้น และทำให้การเริ่มต้นขายของออนไลน์ในครั้งนี้ ราบรื่นมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาล่ะค่ะ ^^
และสำหรับใครที่สนใจการขายของบน E-Marketplace ต่าง ๆ แต่ยังกังวลปัญหาเรื่องการจัดการข้อมูลหลายที่ LnwShop ก็มีบริการอัพเกรดเชื่อมช่องทางการขาย ให้ร้านค้าสามารถขายสินค้าได้หลายช่องทาง แต่สามารถจัดการข้อมูลต่าง ๆ ได้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น…
? บริการอัพเกรดเชื่อมช่องทางการขาย Lazada: www.LnwShop.com/store/lazada
? บริการอัพเกรดเชื่อมช่องทางการขาย Shopee: www.LnwShop.com/store/shopee
? บริการอัพเกรดเชื่อมช่องทางการขาย LnwMall: www.LnwShop.com/store/lnwmall
? บริการอัพเกรดเชื่อมช่องทางการขาย Priceza: www.LnwShop.com/store/priceza
หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์กับร้านค้าไม่มากก็น้อย ยังไงหากเห็นว่ามีประโยชน์ ก็อย่าลืมนำไปประยุกต์ใช้กันด้วยนะคะ แล้วอย่าลืมมาทำให้วันว่าง ๆ ของคุณมีมูลค่ามากขึ้น ด้วยการมาขายของออนไลน์กันเยอะ ๆ นะคะ ไว้เจอกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ :)
ขอบคุณรูปภาพ icon จาก https://www.flaticon.com