t5

ตั้งแต่เทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ตขยายตัวกว้างขึ้น ธุรกิจบนโลกออนไลน์ก็เติบโตมากขึ้นไปด้วยเช่นกันจะเห็นได้จากที่ปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจในเรื่องของการเปิดร้านค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีข้อดีหลายอย่าง ทั้งมีความอิสระ สะดวกสบาย สามารถดูแลร้านและให้บริการลูกค้าได้จากทุกที่ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แถมต้นทุนต่ำ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาทําเลที่ตั้ง หรือคนเฝ้าร้านให้วุ่นวาย และแม้การเปิดร้านค้าออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็ยังมีข้อข้องใจในหมู่ผู้ประกอบการหลายๆคนเกี่ยวกับเรื่องการเสียภาษีว่าการเปิดร้านค้าผ่านระบบออนไลน์นั้น ต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร หากต้องเสียจะต้องไปเสียที่ไหน และต้องทําอย่างไรบ้าง วันนี้ LnwShop จะขออาสามาไขข้อข้องใจนี้ให้ค่ะ

ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีหรือไม่?

คําตอบก็คือ ต้องเสียแน่นอนค่ะ เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีรายได้เกิดขึ้น เราก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้กับรัฐบาล แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับภาษีสําหรับธุรกิจประเภท e-commerce

ภาษีประเภทไหนที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าออนไลน์?

คราวนี้หลายคนคงสงสัยว่า “อ้าว…ถ้ารัฐบาลยังไม่มีกฏหมายภาษีเฉพาะสำหรับธุรกิจประเภท e-commerce แล้วเราต้องจ่ายภาษีประเภทไหนล่ะ??”

ถึงแม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับภาษี e-commerce แต่ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ก็จะต้องเสียภาษีภายใต้ประมวลกฎหมายรัษฎากรเหมือนธุรกิจประเภทอื่น ๆ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ถ้าจะให้ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายไปกว่านั้นอีกก็คือ ถ้ามีลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ทางร้านค้าก็จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเมื่อส่งสินค้าออกไปให้ลูกค้า ลูกค้าที่สั่งซื้อต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

t3

เมื่อไหร่ถึงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม?

ภาษีมูลค่าเพิ่มนี่ไม่ได้ต้องจ่ายกันทุกคนนะคะ แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจ่ายก็ต่อเมื่อทางผู้ขายมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องยื่นคําขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ถ้าหากรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการต่ำกว่า 1.8 ล้านต่อปี เราก็ไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วเราก็ไม่ต้องไปคิดภาษีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้าของเราด้วย

ของแบบไหนที่ขายแล้วต้องจ่ายภาษี e-commerce?

เนื่องจากธุรกิจ e-commerce มีหลายประเภท ก็เลยมีข้อสงสัยตามมาว่า ของแบบไหน หรือธุรกิจประเภทใดที่ขายแล้วต้องจ่ายภาษี e-commerce ในที่นี้ LnwShop จะขอแบ่งประเภทออกเป็นข้อๆแล้วกันนะคะ เข้าใจง่ายดี

1.สินค้าที่จับต้องได้ ก็เป็นสินค้าทั่วๆ ไป ทั้งแบบอุปโภคและบริโภค เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า วิตามิน อาหารเสริม เป็นต้น

2. สินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น การซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์ผ่านการ download ข้อมูลตรงไปเครื่องของผู้ซื้อ

3. ผู้ให้บริการจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ได้กําไรจากการเก็บค่านายหน้า หรือกินเปอร์เซ็นต์

4. ผู้ที่เปิดเว็บไซต์ขายสินค้าและบริการผ่านรูปแบบคูปอง นําไปใช้ในวาระต่างๆ

5. ผู้ที่แสดงตัวให้บริการและรับค่าจ้าง หรือค่าแรงในรูปแบบต่างๆ เช่น รับถ่ายภาพ ,รับจัดทําสินค้าเป็นต้น

6. ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่วางเว็บไซต์ โดยเก็บเป็นค่าเช่ารายเดือน รายปี

จริงๆแล้วนอกเหนือจากธุรกิจที่ LnwShop บอกไปข้างต้นแล้วก็ยังมีธุรกรรมการค้าบนอินเทอร์เน็ตอีก   มากมายหลายประเภท แต่เราจะสรุปรวมให้ง่ายๆก็แล้วกันนะคะว่า ใครก็ตามที่ค้าขาย หรือหารายได้บนระบบอินเทอร์เน็ต แล้วมีรายได้จากธุรกิจนั้น ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษี นับตั้งแต่วันที่เกิดรายได้ค่ะ

t2

ยื่นไม่เป็น คํานวณยาก ขั้นตอนเยอะ ไม่รู้จะปรึกษาใครจะทํายังไงดี

ไม่ต้องเสียเวลานั่งคิดให้ปวดหัวหรอกค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ทางกรมสรรพากร เขาอํานวยความสะดวก โดยการเพิ่มช่องทางการยื่นแบบชําระภาษีออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ท ทางเว็บไซต์ www.rd.go.th ซึ่งในตัวเว็บไซต์ก็จะมีขั้นตอน วิธีการ และรายการคํานวณบอกไว้ให้อย่างละเอียด เราเพียงกรอกข้อมูลในแบบแสดงรายการให้ครบถ้วนเท่านั้น

ยื่นเสียภาษีได้ที่ไหนบ้าง

ผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชําระภาษีที่สํานักงานสรรพากรในเขตพื้นที่ใกล้บ้าน หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบออนไลน์ที่ www.rd.go.th  หากใครยังสงสัย ถ้าหากใครยังข้องใจตรงส่วนไหน ก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์สายด่วนกรมสรรพากร 1161

t4

บทลงโทษ

ถ้าหากร้านค้าใดไม่ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ จะต้องเสียค่าปรับเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนก็นับเป็น 1 เดือนนะคะ)ของเงินภาษีที่ต้องชําระ และมีค่าปรับการยื่นแบบภาษี ไม่เกิน 2,000 บาท

การค้าขาย รายได้ และการเสียภาษี เป็นของคู่กัน เพราะฉะนั้นเจ้าของร้านทั้งหลายควรศึกษาให้รอบคอบและปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอย่างเคร่งครัด บางคนอาจจะคิดว่าร้านเราเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ คงไม่เป็นไร แต่หากเกิดการตรวจสอบขึ้นมาความละเลยเล็กๆ อาจเกิดผลเสียยิ่งใหญ่ได้มากเช่นกัน ด้วยความปรารถนาดีจาก LnwShop

ขอบคุณข้อมูลจาก :

www.pawoot.com/e-commerce-tax

www.rd.go.th

www.numkao.com/prekame/duty/duty2.htm