ความหดหู่ สิ้นหวัง ความซึมเศร้านับล้านที่เกิดขึ้นในแต่ละปี มักส่งผลร้ายต่อเราเสมอ ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางจิตใจ ในแต่ละปีมีผู้คนมากมายเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ตัวเองหายจากภาวะซึมเศร้า แต่โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ หากเรายังปฏิบัติตัวเช่นเดิม มีความคิดแบบเดิมๆ ขอแนะนำ 15 ทริคเทพๆ ที่จะช่วยทำให้ชีวิตของเราไม่สิ้นหวัง หดหู่อีกต่อไป
ทำตัวให้เป็นคนกระตือรือร้น แอคทีฟเสมอๆ
ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องเล่น การกระทำที่มีความสนุกสนาน เต็มไปด้วยความกระฉับกระเฉง ว่องไว จะเป็นแม่เหล็กใหญ่ดึงดูดผู้คนให้หันมาร่วมมือ ให้ความเคารพรัก และให้ความเชื่อถือ รวมทั้งส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งความสำเร็จด้วยดีในทุกๆ สิ่ง นอกจากจะส่งผลดีต่อคนรอบข้างแล้ว คนที่ได้รับผลดีที่สุดก็คงไม่พ้นตัวเราอย่างแน่นอน เพราะความง่วงเหงา หาวนอน ความขี้เกียจ เป็นบ่อเกิดแห่งความซึมเศร้านะคะ
คิดทำอะไรอย่างอื่นบ้าง
หากชีวิตประจำวันมันน่าเบื่อ มันอยู่ในกรอบเกินไป คิดจะทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้างดีไหม? ทำลายกรอบในชีวิตดูบ้าง คิดในมุมที่ไม่เคยคิด แล้วจะพบว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้มากกมาย
สตีฟ จ็อบส์มักจะพูดกับพนักงานของ Apple เสมอว่า “เราต้องทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น และเขาเชื่อว่าพวกเราทำได้”
พักบ้างดีไหม ออกไปข้างนอกบ้างเถอะ
หลังจากที่นั่งหลังขดหลังแข็งทำงานมาไม่รู้เท่าไหร่ เผชิญกับความวุ่นวายที่ไม่มีวันจบสิ้น ออกไปพักกายพักใจบ้างดีไหม? การพักในที่นี้ ขอให้ปิดช่องทางการสื่อสารให้มากที่สุด ไม่ใช่ไปพักผ่อนแต่เปิดมือถือเช็คอีเมลหรือ Social Network ทุก 5 นาที การพักจะทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ชาร์จพลังชีวิตให้เต็มที่แล้วค่อยกลับมาลุยกันต่อ
เป็นอาสาสมัครอะไรสักอย่าง
การทำงานอาสาเป็นกิจกรรมที่เอาประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง ตั้งใจที่จะส่งเสริมสิ่งที่ดีๆ หรือปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นงานอาสาแบบใด ล้วนแต่ทำให้เกิดประโยชน์ในทางบวกทั้งสิ้น การทำงานอาสาเป็นเรื่องของคนใจใหญ่ที่เห็นตนเองเป็นปัจเจกชนคนหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกได้ การเป็นอาสาสมัครทำให้เรารู้จักรักคนอื่น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น แม้ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่ได้ความสุขทางใจเต็มเปี่ยม
มีงานอดิเรก
งานอดิเรก คือ สิ่งที่ทำยามว่าง ซึ่งงานอดิเรกจะเกิดจากความสนใจและความสนุกสนานเป็นหลัก มากกว่าที่จะได้ผลตอบแทนทางการเงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเล่นดนตรี การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การวาดรูป ปลูกต้นไม้ ทำงานไม้ หรือการสะสมสิ่งต่างๆ เช่น ของที่ระลึก แสตมป์ หรือ ตุ๊กตา การได้ทำในสิ่งที่ชอบ จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นเยอะเลย
ดูว่าเราทานอะไร แล้วก็ทานมันไปเลย
อาหารดี ทำให้ชีวิตดี! ควรจะจำไว้บ้างว่าแต่ละวันทานอะไรเข้าไป มีประโยชน์หรือไม่ แต่ถ้าอยากจะทานจริงๆ แนะนำให้ทานเข้าไปเลย ไม่ต้องไปกังวลอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าอยากทานแล้วทานไม่ได้ มันจะเครียดหนักกว่า
ดื่มน้ำให้มากขึ้น (อย่างพอดี)
“เราควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว” ประโยคนี้ใครๆ ก็รู้ดี แต่ทำได้จริงกี่คนกัน? ทำไมต้องดื่มน้ำ?? เพราะ
“น้ำ” ช่วยทำให้ ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อของเรามีความชุ่มชื้น ผิวหนังไม่เหี่ยวย่น ผิวสวยสุขภาพผิวดี เต่งตึงเป็นสีชมพู ช่วยกำจัดของเสีย ช่วยย่อยอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ช่วยทำให้จิตใจของเราผ่อนคลาย ลดความเครียด ทำให้สมาธิดีขึ้น สมองปลอดโปร่ง ลดอาการปวดศรีษะหรือไมเกรน และอื่นๆ อีกมากมาย หลังจากวินาทีนี้เป็นต้นไป อย่าลืมหาแก้วที่มีน้ำสะอาดเต็มแก้ว 1 ใบมาวางไว้ข้างตัวเสมอนะ
(พยายาม)อย่าไปกลัว อย่าไปกังวล
นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวไว้ว่า
ความเครียดหรือความกังวลที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่พบได้เป็นปกติ เป็นพลังกระตุ้นให้คนเราตื่นตัวในการเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ความเครียดยังเป็นแรงผลักดันให้คนเราแก้ปัญหาและคิดค้นพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ แต่ถ้าความคิดวิตกกังวลนั้นมีมากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจส่งผลให้เกิดความทุกข์ใจ ความเจ็บป่วยทางกายทำให้การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือคนรอบข้าง และถ้ามีภาวะเครียดสะสมอยู่เป็นระยะเวลานาน อาจเกิดภาวะซึมเศร้าและในรายที่รุนแรงอาจมีความคิดเรื่องฆ่าตัวตายได้ เนื่องจากหาทางออกไม่ได้
การจัดการความกังวลใจและความเครียดที่สามารถฝึกได้ด้วยตนเอง 4 ประการ คือ
- ฝึกทักษะผ่อนคลาย ด้วยการฝึกหายใจเพื่อให้ร่างกายกับจิตใจสัมพันธ์กัน ฝึกหายใจโดยหายใจออกให้ยาวกว่าหายใจเข้าหรือการใช้วิธีหายใจเข้าให้สุดออกให้สุด นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการยืดเหยียดบริหารร่างกาย เพื่อให้สมาธิ ความสนใจ กลับมาอยู่กับตนเอง เพราะเวลาที่เราเคลื่อนไหวจะทำให้ความคิดลดลง และได้ความสงบทางใจกลับคืนมา
- ฝึกการจัดการด้านความคิด โดยระวังความคิดที่ทำให้เรากังวลและเครียด ด้วยการฝึกการตระหนักรู้ในความคิด การเลือกความคิด หรือฝึกวิธีคิดที่ช่วยให้เรามีความสุข
- ฝึกจัดการปัญหาชีวิต โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ ซึ่งมีส่วนทำให้คนเราเครียดและกังวลได้มาก
- ฝึกเรื่องอาหารการกิน โดยพบว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะหงุดหงิดง่าย การควบคุมอารมณ์จะต่ำลง
อย่าอยู่คนเดียว
โบราณว่าไว้ “อยู่หลายคนให้ระวังคำพูด อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด” การอยู่คนเดียวจะทำให้เรารู้สึกเหงา ความคิดทั้งหลายที่โผล่ขึ้นมาจะออกไปทางแง่ลบ เพ้อเจ้อ ก่อให้เกิดความหดหู่และซึมเศร้าในที่สุด
ไปพบคุณหมอดูบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพ หรือแม้กระทั่งพบจิตแพทย์ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร ให้ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเราจะดีกว่า
คิดแง่บวก
การคิดเชิงบวก หมายความว่า จะต้องพยายามหามุมมองที่แตกต่างออกไปจากมุมมองปกติที่เราเคยมอง ให้มันเป็นบวก ให้มันเป็นประโยชน์กับชีวิตของเราและก็เป็นประโยชน์กับชีวิตของคนอื่นด้วย เมื่อเรามีมุมมองที่เป็นบวก มุมมองที่ทำให้เรานั้นมีแง่คิดที่ดี มุมมองที่ทำให้เรามีกำลังใจ มุมมองที่ทำให้เรารู้สึกมีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น มีแรงจูงใจที่จะต่อสู้กับชีวิต ที่จะเผชิญชีวิต หรือที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าสามารถคิดในเชิงบวกได้ตลอดเวลา แปลว่าเราสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและความสุข
การมองโลกในแง่ดีนั้นเป็นสิ่งที่คนเราสามารถฝึกฝนขึ้นมาได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ในระยะยาว คนที่มองโลกในแง่ดีจะรับมือกับความเครียดได้ดีกว่าคนมองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งเจ็บป่วยน้อยกว่า อายุยืนกว่า มีความสุขและความสำเร็จมากกว่าด้วย
ที่มา: memolition, manarom, prapot, blog.th.88db, volunteerspirit, blog.eduzones, gotoknow, ilife, manager