กูเกิล คือ หนึ่งในบริษัทที่ทำบริการ Single Sign on หรือการใช้เพียงบัญชี (จีเมล์) เดียว สามารถเข้าใช้บริการนับสิบของกูเกิลได้ โดยไม่ต้องสมัคร หรือจำรหัสใดๆ ให้ยุ่งยาก
แต่ในข้อดีก็มีข้อเสีย เช่น หากรหัสผ่านของเราถูกแฮคบริการใดบริการหนึ่ง บริการอื่นๆ ก็จะถูกแฮคไปด้วย เช่น แฮคเมล์แล้ว ก็สามารถดูปฏิทิน คลิปโปรดที่เราอัปโหลดแบบลับๆ ขึ้นยูทูบ รวมถึงประวัติการค้นหาข้อมูลในกูเกิล
ด้วยเหตุนี้เอง ทางกูเกิลจึงพยายามหาหลายมาตรการเพื่อป้องกันให้เกิดการเข้าถึงบัญชีจากผู้ที่เราไม่พึงประสงค์ ที่ผ่านมามีการทำระบบขอรหัสรายครั้งผ่านมือถือ (One Time Password) และล่าสุด มีอีกหนึ่งบริการที่สำคัญมากสำหรับผู้ใช้ทุกคนคือ บริการเก็บหรือสั่งลบข้อมูลใดๆ เมื่อผู้ใช้คนนั้นๆ ลาโลกไปแล้ว หรือชื่อภาษาไทยว่า “เครื่องมือจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งาน” (Inactive Account Manager) ซึ่งหาตั้งค่าได้ที่เมนู Settings ของ Google Account นั่นเอง
ขั้นตอนการทำงานของฟีเจอร์นี้ชัดเจน 4 ขั้นตอนได้แก่
ช่วงระยะหมดเวลา
ผู้ใช้แต่ละคนเป็นคนกำหนดระยะหมดเวลาที่บัญชีของคุณสามารถถูกจัดเป็นบัญชีที่ไม่ใช้งานหลังจากระยะหมดเวลานั้น (เลือกได้ตั้งแต่ 3,9,6,12 เดือนหลังจากไม่ได้ใช้งาน) ระยะหมดเวลาจะเริ่มต้นนับจากที่คุณลงชื่อเข้าใช้บัญชี Google ครั้งสุดท้าย
แจ้งเตือนฉัน
เครื่องมือจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งาน ทางกูเกิลจะแจ้งเตือนเรามาทางอีเมลหรือข้อความก่อนระยะหมดเวลาจะสิ้นสุด
แจ้งผู้ติดต่อและแบ่งปันข้อมูล
เพิ่มรายชื่อติดต่อที่ไว้ใจได้เพื่อรับแจ้งให้ทราบว่าคุณไม่ได้ใช้บัญชีของคุณอีกต่อไปแล้ว คุณสามารถแบ่งปันข้อมูลกับพวกเขาได้ด้วยหากต้องการ
เลือกลบบัญชีช่วงระยะหมดเวลา
คุณกำหนดระยะหมดเวลาที่บัญชีของคุณสามารถถูกจัดเป็นบัญชีที่ไม่ใช้งานหลังจากระยะหมดเวลานั้น ระยะหมดเวลาจะเริ่มต้นนับจากที่คุณลงชื่อเข้าใช้บัญชี Google ครั้งสุดท้าย (ซึ่งส่วนนี้ก็จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการให้เรื่องส่วนตัว ตายไปพร้อมกับตัวเรา)
ปัจจุบันบริการนี้จะช่วยให้คนที่อยู่เบื้องหลังสามารถที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลของเราจากใน
Blogger, Contacts และ Circles, Drive, Gmail, Google+ Profiles, Pages และ Streams, Picasa Web Albums, Google Voice and YouTube, รวมถึงเพจที่เรากด+1s ไว้ด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่ต้องห่วงว่าหากคนที่เรารักสามารถเข้ามาเก็บข้อมูลใดๆ ของเราได้ พวกเขาจะได้รหัสผ่านกูเกิลไปด้วย เพราะกูเกิลย้ำชัดว่าบริการนี้เกิดมาเพื่อให้แต่ข้อมูล ไม่ได้รหัสใดๆไป
ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า เว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆล่ะ มีบริการแบบนี้ด้วยหรือไม่ คำตอบคือมี แต่มาตรการไม่เหมือนกัน กล่าวคือ สำหรับเฟซบุ๊ก เนื่องจากมีการใส่ข้อมูลส่วนตัวมากมาย เช่น เราเป็นพี่น้องและญาติกับใคร และทุกคนในเฟซบุ๊กส่วนมากใช้ชื่อจริง ดังนั้นหากผู้ใช้ท่านใดสิ้นลมไป หากญาติยื่นเรื่องแจ้งให้เฟซบุ๊กทราบ ทางเว็บก็จะยอมเปลี่ยนสถานะเป็น “อยู่ในห้วงความทรงจำ (Memorializing)” เพื่อให้คนเข้ามาอ่านข้อมูลที่คนๆ เคยโพสต์ได้ แต่มาขอเป็นเพื่อนใหม่ไม่ได้
ส่วนทวิตเตอร์ ก็ยุ่งยากหน่อย ต้องส่งใบเกิด ใบขับขี่ และเอกสารระบุความจำนงค์ และเอกสารยืนยันการเสียชีวิตไปให้ถึงอเมริกา ถึงจะขอข้อมูลทวีต หรือสั่งปิดบัญชีได้
บริการทั้งหมดของเว็บไซต์เหล่านี้ก็เพื่อให้ญาติพี่น้องเก็บความทรงจำของคนสำคัญของตนเอาไว้เพื่อดูหรืออ่านในยามที่คิดถึงกันนั่นเอง