ได้เวลาหยุดยาวกับเขาทั้งที จะให้นอนอืดอยู่บ้านเหมือนคนอื่นเขาคงเฉาแย่ เลยนึกที่จะขับรถชิลๆ ไปเที่ยวทะเล นั่งดูพระอาทิตย์ตกยามเย็นที่พัทยาสักหน่อย ระยะทางใกล้แค่นี้ ขับสบายมาก แต่หลังจากกลับมาถึงบ้าน ดันรู้สึกปวดหัว อวดเมื่อยตามเนื้อตัว จนมือไม้สั่นจนต้องรีบไปหาหมอ ปรากฎว่าอาการเหล่านี้มีผลมาจากการนั่งขับรถยนต์ที่ไม่ถูกวิธี วันนี้จึงอยากนำท่านั่งที่ถูกต้องในการขับรถมาฝาก

ท่านั่งในการขับรถให้ถูกวิธี

การขับรถยนต์เป็นเวลานานๆ นั้น อาจก่อให้เกิดความเมื่อยล้าได้ ดังนั้นผู้ขับทุกคนควรทราบถึงท่านั่งที่ถูกวิธี เพื่อที่จะช่วยบรรเทาความเมื่อยล้า และยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับรถให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย โดยมีวิธีปฎิบัติที่เพื่อนๆ สามารถทำตามได้ง่าย ดังต่อไปนี้

  • การปรับระยะเบาะนั่ง

ถ้ารถที่ขับเป็นเกียร์ออโต้ ให้ใช้ฝ่าเท้าเหยียบที่แป้นเบรก แล้วเลื่อนตัวเบาะนั่งให้เข่างอเล็กน้อย แต่ในกรณีที่เป็นรถเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์กระปุก ให้นั่งชิดพนักพิงแล้วใช้เท้าเหยียบแป้นนคลัตช์ให้สุด ถ้าเหยียบไม่สุด ให้ปรับเบาะไปทางด้านหน้า เมื่อเหยียบสุดแล้วเข่าต้องตึง มิฉะนั้นจะเมื่อยเข่าในขณะขับ

  • การปรับพนักพิงที่ถูกต้อง

การปรับพนักพิงจะต้องไม่เอนไปข้างหลังหรือข้างหน้ามากมาก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ โดยใช้มือขวาจับที่ 2-3 นาฬิกา ข้อศอกจะงอเล็กน้อย แผ่นหลังจะติดพนักพิงเสมอ จากนั้นลองเลื่อนมือไปวางไว้บนสุดของพวงมาลัย ข้อมือจะต้องแตะกับพวงมาลัยได้พอดีจึงถือว่าถูกต้อง ถ้าวางมือลงบนพวงมาลัย แล้วมืออยู่เลยไปถึงกลางฝ่ามือหรือโคนนิ้ว แสดงว่าปรับพนักพิงเอนเกินไป แต่ถ้าวางมือลงบนพวงมาลัยแล้วมืออยู่ชิดเลยข้อมือเข้ามาแสดงว่านั่งชิดเกินไป

  • การปรับหมอนรองศรีษะ

หมอนรองศรีษะนั้นให้ปรับเอนศรีษะอยู่กลางหมอนรองศรีษะพอดี บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่ามีไว้สำหรับเอาคอมาพิงเพื่อจะนอนได้สะดวก แต่ความเป็นจิงแล้วถ้าทำลักษณะเช่นนั้น จะเกิดอันตรายมากเวลาเกิดอุบัติเหตุ เพราะว่าหมอนรองศรีษะมีหน้าที่ไว้รองศรีษะเวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ให้ศรีษะเงยหรือสบัดไปด้านหลังเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้กระดูกคอแตกหรือหักได้

  • เข็มขัดนิรภัย

ถ้ารถยนต์สามารถที่จะปรับเข็มขัดนิรภัยให้สูงต่ำได้ ควรปรับระดับสายเข็มขัดนิรภัยให้เหมาะสม โดยสายเข็มขัดต้องพาดจากบริเวณไหปลาร้าเฉียงลงมาที่สะโพก แล้วมาพาดอยู่แถวกระดูกเชิงกราน โดยอย่าให้สายมาพาดที่บริเวรคอ หรือห้อยเลยหัวไหล่ไปเด็ดขาด

  • การปรับพวงมาลัยรถยนต์

ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีระบบการปรับพวงมาลัย โดยการปรับนั้นจะต้องไม่สูงเกินไปจนทำให้เมื่อยขณะขับรถและไม่ควรต่ำจนติดหน้าขา

  • การปรับกระจกมองหลัง

ควรปรับกระจกมองหลังให้เห็นมุมมองกว้างที่สุดและรู้สึกสบายสายตาขณะมอง ไม่ใช่ปรับไว้เพื่อดูหน้าตัวเองตอนแต่งหน้าในรถยามที่รถติดเท่านั้น

  • การปรับกระจกมองข้าง

ให้ปรับกระจกมองข้างให้มองเห็นตัวถังของรถยนต์เพียงนิดหน่อย ควรปรับให้กว้างเห็นถึงช่องรถถัดไป

สิ่งที่ไม่ควรปฎิบัติขณะนั่งขับรถ

1. อย่านั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป เนื่องมาจากการต้องการมองด้านหน้าสุดของฝากระโปรงหน้า เพราะกลัวว่าการกะระยะอาจไม่ถูกต้อง ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้ข้อศอกงอมากกว่าปกติ ทำให้การหมุนพวงมาลัยไม่ถนัด และหากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ถุงลมนิรภัยเกิดการพองตัวขึ้นมาปะทะกับหน้าทันที ดังนั้นควรกะระยะเผื่อไว้เล็กน้อย เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง

2. การปรับเบาะเอนไปด้านหลังมากๆ ทำให้เวลาขับรถต้องชะโงกตัวโหนพวงมาลัย ทำให้ไม่สามารถควบคุมพวงมาลัยได้คล่องตัว ขาดความฉับไวและแม่นยำในการควบคุม และเมื่อมองกระจกมองหลังและกระจกมองข้าง จะต้องเบนแนวสายตามากกว่าปกติ ทำให้เกิดการเมื่อยล้าเมื่อขับรถในระยะไกล

3. การปรับหมอนรองศรีษะให้หนุนลำคอ ควรปรับหมอนรองศรีษะหนุนแล้วอยู่กลางหมอน เพื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุ ศรีษะจะสบัดไม่มากทำให้ลดอันตรายที่จะเกิดกับกระดูกต้นคอ

4. การจับพวงมาลัย ควรจับในตำแหน่งที่ถูกต้อง และควรจับด้วยมือทั้งสองอยู่เสมอ ไม่ควรจับในท่าที่สบายเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

5. คนส่วนใหญ่พอคาดเข็มขัดนิรภัยครั้งแรกจะรู้สึกอึกอัด หายใจไม่ออก ไม่สบายเนื้อตัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  เพราะหากเกิดอุบัติเหตุคนขับจะพุงตัวเข้าหาพวงมาลับหรือกระจกหน้ารถแบบเต็มที่ ดังนั้นผู้ขับรถทุกท่านควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เกิดความเคยชิน จนคิดเป็นนิสัยา

6. เมื่อขับรถนานๆ อาจเกิดวามเมื่อยล้าจากการใช้เท้าในการเหยียบคันเร่ง ซึ่งบางคนอาจนำเท้าซ้ายมาสลับเหยียบคันเร่งแทน การกระทำเช่นนี้ขอแนะนำว่าไม่ควรปฎิบัติ เนื่องจากผู้ขับยังไม่ชินกับการใช้เท้าข้างซ้ายเบรก ทำให้ไม่สามารถกะระยะได้ (ใน 1 วินาที ถ้าเราขับรถเร็ว 100 ก.ม./ชม.ใน 1 วินาทีนั้นรถจะวิ่งไปถึง 28 เมตร)

7. การฟังเพลงดังๆ หรือใส่หูฟัง จะทำให้ผู้ขับไม่ได้ยินเสียงผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เสียงบีบแตร่จากรถคันอื่น เป็นต้น

8. การนั่งไม่จับพวงมาลัยรถยนต์หรือนั่งพิงประตู เมื่อมีเหตุฉุกเฉินกระทันหันจะไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้

การนั่งขับรถยนต์ด้วยท่าที่ถูกวิธีนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้วิสัยทัศน์ในการขับขี่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถช่วยไม่ให้เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง หรืออาการปวดเมื่อยต่าง ๆ ตามร่างกาย แม้ว่าคุณจะขับรถยนต์ราคาแพง มีเบาะนุ่มมากแค่ไหน แต่ถ้าท่านั่งขับรถของคุณไม่ถูกวิธีก็อาจก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวคุณเองได้เช่นกัน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : howto-drive.blogspot.com